โดย ม.ต่อศักดิ์ และสหาย 1 ตุลาคม 2563
ทั้งนี้ เพื่อจะนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องราวที่ถูกบันทึกอยู่ในหนังสือและเอกสารภาษาไทย และยังไม่มีผู้ใดนำไปทำเว็บไซต์เป็นภาษาต่างประเทศไว้เลย
สิ่งที่พบเห็นได้ในเวลานั้น (และแม้จนทุกวันนี้) ที่ท่านผู้สนใจในเรื่องนี้เช่นเดียวกับผมหลายท่านคงจะพบด้วยเช่นกัน ก็คือ เว็บไซต์ภาคภาษาอังกฤษทั้งหมด (หรือแม้แต่ในวิกิพีเดียภาคแรกๆ) จะบรรยายว่า กองเรือฝ่ายไทยมีเรือรบจำนวนมากมาย ใหญ่โตน่าเกรงขามกว่าฝ่ายตรงข้ามหลายเท่า แต่กลับต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ทหารเรือไทยเสียชีวิตมากมายหลายร้อยคน เรือรบที่สำคัญๆของราชนาวีไทยได้รับความเสียหาย มีหลายลำถูกจมลงก้นทะเล รวมทั้ง ร.ล.ธนบุรี และยังแถม ร.ล.ศรีอยุธยา ให้ด้วยอีกลำ
ในขณะที่ฝ่ายตรงข้าม นอกจากจะมีเรือน้อยลำกว่ามาก และไม่ได้รับความเสียหาย หรีอมีรอยขีดข่วนใดๆเลยแม้แต่สักนิดเดียวแล้ว ยังแสดงความมีมนุษยธรรมด้วยการแล่นเรือช่วยเหลือลูกเรือไทยที่ลอยคออยู่ในทะเลให้รอดชีวิตอีกด้วย
เรียกได้ว่า ชนะกันอย่างชิลล์ๆ แบบสบายๆคลายอารมณ์ ยิ่งกว่าการไปยิงเป็ดหรือยิงปืนตามงานวัดเสียอีก
และยังจำได้ด้วยครับว่า มีเว็บนักดำน้ำในเมืองไทย แต่เขียนโดยฝรั่งรายหนึ่ง ถึงกับอ้างอิงหลักฐานจากหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่ามีการพบซากเรือรบขนาดเดียวกับ ร.ล.ธนบุรี จมอยู่ก้นทะเลที่เกาะช้าง ตรงบริเวณที่เรือพยายามจะวิ่งเข้าฝั่งด้วย นอกจากนี้ยังสรุปให้เสร็จด้วยว่า ร.ล.ธนบุรี นั้นยังจมอยู่ที่เดิม แต่ ร.ล.ศรีอยุธยา ถูกกู้ขึ้นมาแล้วนำไปซ่อมที่ญี่ปุ่นได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง (แต่ก็ร่วมสิบกว่าปีเหมือนกันครับ) ผมจึงพบว่า มีผู้จัดทำเว็บไซต์เป็นภาษาฝรั่งเศสรายหนึ่ง ได้ทำการค้นคว้าหลักฐานจากบันทึกรายงานการรบของทาง ทร.ฝรั่งเศส ในครั้งนั้น รวมไปถึงบันทึกของผู้บังคับการเรือลาม็อตตปิเกต์เอง แล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหลักฐานของฝ่ายไทย เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าการรบเป็นไปอย่างไร และผลการรบในที่สุดแล้วจบลงอย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่(พวกฝรั่งด้วยกันเอง)เขียน(และลอกๆกันต่อมา)ไว้ในเว็บไซต์อื่นๆมากมายว่า ร.ล.ธนบุรี และ ร.ล.ศรีอยุธยา ถูกจมไปทั้งสองลำนั้น เป็นความจริงหรือไม่
ถึงแม้เว็บไซต์ดังกล่าวนี้จะเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส (ที่ผมแทบจะไม่มีความรู้อะไรเลยครับ) แต่โชคดีที่ตอนนั้นมีโปรแกรมแปลภาษาได้แล้ว ผมจึงสามารถทำความเข้าใจได้หมด และพบว่าเขาเขียนได้อย่างมีเหตุผลตรงไปตรงมา ระบุว่าหลักฐานของทางฝรั่งเศสเองมีขอบกพร่องหลายอย่าง ทั้งจากระยะการมองเห็น สภาพภูมิอากาศในตอนเช้ามืด แสงยังรำไรมีหมอกลง อันย่อมจะมีผลต่อทัศนวิสัย ไปจนถึงการทึกทักและคุยโม้โอ้อวดของผู้อยู่ในเหตุการณ์
ข้อสรุปของเขาจึงมีความใกล้เคียงกับของเรามากขึ้น และทำให้เราได้ระลึกว่า การลอกเลียนเผยแพร่เรื่องไม่จริง หรือในปัจจุบันก็ต้องเรียกว่า ผลิตและแชร์ข้อมูลมั่วๆ แบบเฟคนิวส์นั้น ทำกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาทำกันในยุคของเฟสบุค ยูทูป ไลน์ ทวิตเตอร์ ฯลฯ ที่เราต้องเผชิญกันเป็นประจำในปัจจุบัน
เวลาผ่านมาถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2551 ผมกับชาวคณะ ThailandOutdoor ที่มีความสนใจในเรื่องนี้ ด้วยความช่วยเหลือจากท่านผู้การตู้ น.อ.ประมุข สุวรรณประทีป ช่วยประสานงานติดต่อ ให้พวกเราได้ไปพบปะพูดคุยกับทหารผ่านศึกในการรบทางทะเลที่เกาะช้าง และประจำการอยู่บน ร.ล.ธนบุรี ท่านหนึ่ง ถึงที่บ้านพักของท่านในจังหวัดสมุทรปราการ
ท่านผู้นี้มีนามว่า พันจ่าเอก แก้ว เจริญสุข เป็นหนึ่งในทหารผ่านศึกจากการรบทางทะเลที่เกาะช้างเพียงไม่กี่ท่านในเวลานั้นที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ท่านมีอายุถึง 90 ปีแล้ว แต่ยังมีสุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉง สามารถนั่งตัวตรงสนทนาพูดคุยกับพวกเราอย่างชัดถ้อยชัดคำ ต่อเนื่องกันเป็นเวลาสองชั่วโมงได้อย่างสบายๆ
พวกเราได้บันทึกภาพและเสียงของการสนทนาในวันนั้น และเก็บรักษาไว้โดยยังไม่ได้เผยแพร่ออกไปไม่ว่าด้วยสื่อใด ทั้งนี้ไม่ได้มีเหตุผลอะไรแต่อย่างใดครับ นอกไปเสียจากว่าทุกคนยังต้องใช้เวลากับงานประจำค่อนข้างมาก จนไม่ค่อยเหลือเวลาและสมาธิให้กับการเรียบเรียงสำหรับเผยแพร่ได้อย่างมีคุณภาพเท่านั้นเอง
ประกอบกับพบว่า เริ่มมีเว็บไซต์ ตามด้วยคลิปในยูทูปภาคภาษาไทยหลายแห่ง ทำการเผยแพร่เรื่องราวของการรบทางทะเลที่เกาะช้าง และวีรกรรมของ ร.ล.ธนบุรี ในการรบครั้งนั้นกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่ว่าตามดูแทบไม่ทันเลยครับ (มีแห่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าบรรยายได้อย่างละเอียดละออทุกแง่ทุกมุม และอ้างอิงข้อมูลจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือ จนต้องขออนุญาตแนะนำให้ทุกท่านเข้าไปติดตามดู คือที่นี่ครับ)
และยังพบอีกว่า มีบางบล็อกได้เคยบันทึกการสัมภาษณ์ท่านไว้โดยสังเขปแล้ว จากงานสดุดีวีรชนกองทัพเรือเมื่อปี พ.ศ.2550 (ติดตามดูได้ที่นี่ครับ)
สำหรับข้อมูลและเรื่องราวอย่างเป็นทางการทั้งหมดของการรบในครั้งนั้น สามารถดูได้จากรายการสารคดีของกองทัพเรือที่นี่ครับ
จนเวลาล่วงเลยมาถึงวันนี้ ผมจึงมีโอกาสได้กลับไปค้นดูเทปบันทึกการสนทนากับท่านในครั้งนั้น และคิดว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราจะนำเสนอเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากความทรงจำของท่านโดยตรง ไว้ในที่นี้อีกสักแห่งหนึ่ง เนื่องในวาระที่การรบทางทะเลที่เกาะช้างจะเวียนมาครบรอบ 80 ปี ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ทั้งนี้ ผมจะขออนุญาตนำเสนอแต่เพียงสาระและรายละเอียดในแบบที่ยุคนี้มักใช้คำว่า "นอกกระแสหลัก" นั่นคือ จะขอข้ามเรื่องราวที่พวกเราเคยรับรู้รับทราบมาจากสื่ออื่นๆ หรือแหล่งข้อมูลจากหลายที่ต่างๆกันมาเป็นส่วนใหญ่แล้วนะครับ โดยจะยกแต่เรื่องราวและเกร็ดย่อยต่างๆ ที่ผมเชื่อว่ายังไม่เคยมีการบันทึกไว้ที่อื่น และยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปนัก ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้ครับ
- ร.ล.ศรีอยุธยา น่าจะเป็นเรือที่เข้าต่อตีกับข้าศึกในวันนั้น แต่ด้วยสาเหตุที่คาดไม่ถึง หรือเพราะโชคชะตากำหนดไว้แล้วก็มิอาจทราบได้ ทำให้ ร.ล.ธนบุรี ต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์แทน
- มีแนวที่ 5 หรือจารชนประจำการอยู่ในพื้นที่ คอยแจ้งตำแหน่งเรือรบของฝ่ายเราให้ศัตรูทราบล่วงหน้า
- ร.ล.ธนบุรี ถูกโจมตีแบบ "ตัดสายมุ้งแล้วก็ตีเอาๆ"
- นายท่าเรือที่ไซ่ง่อน เป็นผู้ที่ยืนยันว่าเรือลาม็อตต์ปิเกต์ได้รับความเสียหาย
- เกิดการวิวาทในที่ประชุม จนต้องยกเลิกแผนการนำ ร.ล.ธนบุรี ไปซ่อมแซมที่ญี่ปุ่นอย่างกระทันหัน
และเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องครับ โดยผมได้ทำการถอดเสียงการสนทนากับท่านจากวิดีโอเทปที่บันทึกไว้ แบบคำต่อคำทุกๆคำ ไม่มีการดัดแปลงหรือต่อเติมอะไรลงไปทั้งสิ้น
พันจ่าเอก แก้ว เจริญสุข ได้เสียชีวิตลงเมื่อ 4 ปี หลังจากวันที่เราได้มีโอกาสพบปะสนทนากับท่าน ผมต้องขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาที่ท่านได้เคยสละเวลาให้กับพวกเรา กับขอแสดงความคารวะและความอาลัยต่อการจากไปของท่านไว้ ณ ที่นี้ อีกครั้งด้วยครับ
และขอเชิญทุกท่านติดตามเรื่องราวของร.ล.ธนบุรี กับการรบที่เกาะช้าง จากความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์อีกท่านหนึ่ง ต่อไปได้ที่นี่ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น