ร.ล.ธนบุรี กับการรบที่เกาะช้าง จากความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์อีกท่านหนึ่ง (2/2)

โดย ม.ต่อศักดิ์ และสหาย    15 ตุลาคม 2563

ในการสนทนากับพันจ่าเอก แก้ว เจริญสุข นั้น เป็นการนั่งคุยกันแบบสบายๆ โดยผมได้นำภาพถ่ายของ ร.ล.ธนบุรี และแผนที่กับภาพถ่ายอื่นๆที่เกี่ยวกับการรบหลายๆภาพ เท่าที่รวบรวมมาได้จากหลายๆแหล่งทั้งของไทยและต่างประเทศในเวลานั้น มาให้ท่านได้ดู เพื่ออำนวยความสะดวกให้ท่านได้ระลึกถึงภาพจากเหตุการณ์ สามารถอธิบายและชี้ตำแหน่งต่างๆในประเด็นที่เราอยากทราบได้กระจ่างขึ้น

คำถามของพวกเรานั้น ก็ไม่ได้เรียงตามลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์ครับ ใครอยากทราบเรื่องอะไรประเด็นไหน นึกขึ้นมาได้ก็ถามท่านไปท่านก็ตอบมา โดยที่หลายครั้งท่านยังกรุณาเล่าเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ฟังกันเพิ่มเติมอีกด้วย

ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตนำสิ่งที่ท่านคุยกับพวกเราทั้งหมด มาจัดเรียงให้เป็นไปตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนะครับ อีกทั้งยังจัดหัวข้อเป็นเรื่องๆ แยกไว้ให้เป็นหมวดหมู่ด้วย ส่วนข้อความในวงเล็บนั้น ผมได้ลงเพิ่มเติมไว้เพื่อขยายความให้ท่านผู้อ่านพอเห็นภาพ หรือเข้าใจความหมายในสิ่งที่ท่านกล่าวถึงได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ

เริ่มกันเลยครับ 

ตำแหน่งหน้าที่ของท่านบน ร.ล.ธนบุรี

"ทีแรกอยู่ประจำปืน 75 (75มม.หรือ 3นิ้ว) ต่อสู้อากาศยาน แล้วย้ายไปอยู่ปืนหนัก 200 (200มม.หรือ 8นิ้ว) ปืนท้าย อยู่กับ พล.ร.อ.จิตต์ สังขดุลย์ เป็นนายป้อม ทำหน้าที่เรียง ลำเลียงถุงดินปืน (ดินขับในถุงผ้า) น้อยถุงยิงใกล้ หลายถุงยิงไกล ตอนยิงกันยิงไปแยะทั้งหัวทั้งท้าย จำไม่ได้ว่าเท่าไร "

ผัง ร.ล. ธนบุรี แสดงตำแหน่งปืนหลัก

ป้อมปืนคู่ด้านหน้า ขนาด 200 มม. (8 นิ้ว)

ป้อมปืนหน้าและหอบังคับการเรือ
ถูกเก็บรักษาอยู่ในบริเวณอนุสรณ์สถาน ร.ล.ธนบุรี

การฝึกพลประจำเรือ

"สมัยนั้นโอ้โฮฝึกเต็มจริงๆ คุณนั่น คุณแชน ปัจจุสานนท์ นี่ แกเป็นต้นปืน ได้ไม้ลังสบู่ ช้าไม่ได้ ช้าตี ตอนรบกันคุณจิตต์มาแทน 

(ระยะเวลาในการฝึก) มันไม่แน่ มันแล้วแต่ ตอนออกทะเลก็ฝึกกันทั้งวันเลย มีฝึกยิงลูกจริง แต่น้อย 

เรื่องการฝึกเราไม่ด้อย ประจำสถานีรบถ้าเกิน 5 นาทีละโดนไม้เลย ไม้ลังสบู่น่ะ ตีเลย"

ภายในป้อมปืน

ส่วนท้ายของปืน 200 มม. (8 นิ้ว)

อาหารการกินบนเรือ

"อาหารข้าวกับแกงอย่างเดียว สมัยนั้นกันดารมาก"

การเตรียมกำลังรบ

"เรือทุกลำออกทะเลหมด ยกเว้นเรือรัตนโกสินทร์กับสุโขทัย เรือศรีอยุธยาเขาออกไปก่อน อยู่ที่เกาะช้าง 

ทีนี้บังเอิญ เรือศรีฯเขาก็พร้อมอยู่แล้ว ทีนี้บังเอิญหม้อข้าวของเขาแตก รั่วทะลุ หุงข้าวกินไม่ได้ เขาก็เลยนำไปขอเข้าอู่ ก็เลยให้เรือธนฯไปแทน เรียกเรือธนฯไปแทน 

แต่วันที่ 1ไปกินเลี้ยงที่นั่น กินเลี้ยงที่เกาะช้าง ไปรวมพลกันที่นั่นหมดเลย กินเลี้ยงกันวันที่ 1 มกรา  หลังจากกินเลี้ยงกัน 14 วันก็เจอกัน"

บทบาทของจารชนฝ่ายตรงข้าม

"อีกอย่างหนึ่ง ตอนนั้นแนวที่ 5 เค้าเก่งมาก มาสืบพบทีหลังว่าอยู่ในสัตหีบ แจวเรือขายของ รู้ชื่อด้วย บ้านอยู่ในสัตหีบ เวลาเรือจอดในอ่าวก็แจวเรือมาขาย 

ตอนที่มันจะเข้าโจมตีนี่  ตอนเย็นก็มีเรือขายแตงโม เกาะช้างอยู่ตรงนี้ใช่มั้ย (ชี้แผนที่) อันนี้ด้านนอก เรือเรา(ร.ล.ธนบุรี หนองสาหร่าย และเทียวอุทก)จอดอยู่แถวนี้ ไอ้แนวที่ 5 มันจุดไฟทั้งคืนเลย เพราะตอนบ่ายโมง(วันรุ่งขึ้น) เขาปล่อยทหารขึ้นไปอาบน้ำชุดนึงที่น้ำตก (เครื่องบิน)มันมาสูง ยิงไม่ถึง มาตรวจการณ์ถ่ายภาพที่น้ำตกตอนบ่ายโมง 

ผมจำได้เลยตอนบ่ายโมง เรือชักธงบอกให้พวกปืนเบากลับก่อน เราก็กลับไป ทีนี้มันสูง ยิงไม่ถึง ยังดีที่เราย้ายที่เรือทัน ถ้าย้ายที่เรือไม่ทันละเรือหนองสาหร่าย ทิวอุทก อะไร หมด โดนยิงหมด

เค้ารู้หมดเลยไอ้เรือเรา 2 ลำ (ร.ล.สงขลาและชลบุรี)นี่จอดตรงนี้ ไอ้เรือขายแตงโมมันให้ไฟทั้งคืนเลย ให้สัญญาณทั้งคืนเลย เรามันสู้เค้าไม่ได้ไอ้ตอนนี้"

ความขาดแคลนยุทธปัจจัยที่สำคัญ

"คืนนั้นก็พอรู้แล้วว่าจะมีการโจมตี ทีนี้เราก็พูดไม่ได้น่ะ เดี๋ยวผู้ใหญ่เค้า... ขออนุญาตเติมน้ำมัน แต่น้ำมันไม่มีอ่ะ  ตอนนั้นน้ำมันหายาก ขออนุญาตจุดไฟ ไม่เป็นไรมันใกล้จะจบแล้วละ ไม่ต้องจุดละ ก็ไม่เป็นไร รู้ว่าอยากจะจุดไฟ อยากจะยิงตอร์ปิโดก็ไม่มีลมพอ (ต้องติดไฟหม้อน้ำ เพื่ออัดลมในท่อไว้ก่อนครึ่งชั่วโมง ตอร์ปิโดจึงจะยิงได้)"

กลศึกของกองเรือของฝ่ายตรงข้ามในการบุกเข้าตี ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ชลบุรี

"พอรู้ว่าเรือข้าศึกมา (ร.ล.สงขลาและชลบุรี)ก็ติดเครื่องเลย มันก็ยิงอยู่นานเหมือนกันไม่ถูกเรา เพราะเราอยู่ในฉากมีเกาะเหลาหยา เราจอดอยู่ในฉาก ระยะวัดมันใช้กล้องของมันยาก มันก็จับเราไม่ได้ ยิงไปหลายนัดไม่ถูก 

พอติดไฟปั๊บ มันวัดระยะจากกลุ่มควัน ยิงโดนสองลำจมหมด 

มันยิงสนามบินบนเกาะง่าม มีพวกนักโทษสร้างสนามบิน มันเล่าให้ฟัง โอย มันยิงขึ้นมาผมไม่รู้จะหนีไปไหน วิ่งเข้าป่า มันยิงใหญ่เลย มันคิดว่าเครื่องบิน

เค้ามีแผน ไอ้เราก็อย่างว่า ทีนี้แสงมาพอเรือมันเข้ามาแล้ว มันเอาเครื่องบินมาล่อ ไฟฉายไปเราเห็นเครื่องบินก็ยิงใหญ่เลย พอยิงเสร็จไฟจับมันก็รู้สิ รู้ตำแหน่งปืน มันก็ยิงสุ่มมา สองลำจมไปเลย มันเอาเครื่องบินมาล่อ ยิงตูมไฟวาบมันอยู่ข้างนอกก็เห็นแล้ว เห็นตำแหน่งแล้ววัดระยะสิ สมัยนั้นมันใช้โป๊ะวัดระยะทาง ไม่ได้ใช้เรดาร์ "

ร.ล.ธนบุรี ถูกเรือข้าศึกรุมยิง 

"ออกเรือแล้ว เรียกว่าช้ากว่าเขา เขาพร้อมหาตำแหน่งแต่แรก แต่ลำใหญ่ ไม่รู้ลำไหนมันยิง มันยิงปังๆๆๆ เข้ามาโจมตี 4 ลำ 

โดนยิง 5 นัด ตอนที่โดนนัดแรก ที่โดนหลวงพร้อมฯ(นาวาโท หลวงพร้อมวีรพันธ์ุ ผู้บังคับการเรือ) เรือออกมายังไม่พร้อม ยังตั้งหลักไม่ได้ กว่าจะตั้งหลักได้เราก็ยิง ป้อมหัวยิงก่อน

โดนยิง 3 ตับก่อน ตับแรกเลยไป น้ำกระจุย ตับที่สองต่ำ แล้วตับที่สามก็โดน 

สะพานเดินเรือ
และภาพวาด นาวาโท หลวงพร้อมวีรพันธุ์

จุดสีแดงคือตำแหน่งที่กระสุนขนาด 6 นิ้ว
ของข้าศึกทะลุเข้าไประเบิดใต้สะพานเดินเรือ

สะพานเดินเรือชั้นบน

ลาม็อตต์ปิเกต์ เห็นตัวเรือขาววับ  มีแผนอยู่แล้ว พอออกจากเกาะนี้ ตูมๆๆ แล้วเข้าอีกเกาะหนึ่ง วิ่งกลับไปกลับมา เรายิงไม่ได้แล้ว 

เราอยู่ในที่โล่งแจ้งไม่มีอะไรบัง ออกจากเกาะลิ่ม ออกมาก็เจอพอดี บึ้มๆหลบเข้านี่ บึ้มๆหลบเข้านี่ วิ่งกลับไปกลับมา (เอานิ้วชี้แผนที่ประกอบคำอธิบาย) 


ภาพวาดโดย มล.ชัยนิมิตร นวรัตน์

แผนที่ของฝรั่งเศส แสดงเส้นทางเดินเรือ
ของฝ่ายตนใน
การบุกเข้าโจมตี
และขอบเขตบริเวณที่ ร.ล.ธนบุรียิงต่อสู้

ของเราอยู่ที่โล่งแจ้ง มันจับระยะได้ก็ยิงศูนย์เดิมถูกแทบทุกลูก โจมตีแบบตัดสายมุ้งแล้วก็ตีเอาๆ (ผมชอบสำนวนเปรียบเปรยของท่านตรงนี้มาก จนต้องขออนุญาตไฮไลต์ไว้นะครับ)

เรือหมุน หางเสือเสีย ลูกนี้ที่มันยิงโดนหางเสือ ก็ยังยิงสู้ หมายความว่าบังคับท้ายไม่ได้ เรือก็หมุนๆ เราก็เล็งไปๆ พอตรงเราก็ยิงๆ หมดมุมเราก็หันไปทางอื่น ช้าน่ะ ช้ากว่าเขาเยอะ 

แผนที่ของไทย แสดงเส้นทางของ ร.ล.ธนบุรี

ต้นหน(เรือโท เฉลิม สถิรถาวร)ทำหน้าที่แทนหลวงพร้อมฯ สมควรได้เหรียญกล้าหาญ พอผู้การตายแกก็ทำหน้าที่แทน แกน่ะเลือดทั้งตัวเลย เวลาดินมันระเบิด ไอ้กระจกอยู่ในสะพานเดินเรือ กระจกมันแตกบาด บาดเต็มเลย 

`เรือโท เฉลิม สถิรถาวร
 ประดับยศเรือเอก เหรียญกล้าหาญ
และเหรียญชัยสมรภูมิ

แกก็วิ่งสั่งการ บอกว่าเรายิงมันไม่ได้แล้ว วิ่งไปท้ายเรือ ไปช่วยกันใช้หางเสืออะไหล่ ใช้มือโยกเอา พอหมุนได้ระยะตรงก็ยิงอีก ถูกมั่งผิดมั่งอะไรก็ว่ากันไป 

จากนั้น เขาก็กระจายเข้ามา 4 ลำ ลำนี้วิ่งเข้าเกาะ ลำโน้นยิง เรายิงแต่ลำใหญ่ แล้วก็คงจะยิงลำอื่นด้วย มันก็ถูกได้ยาก 

คนที่มาแทนผม(ที่ปืน 75)น่ะ หน้ามันไปหมดเลย ไม่ตาย ยังอยู่  ชื่อทองสุข ดาวคล้อย 

สะพานเดินเรือ 1 นัด ท้ายเรือ 2 นัด โดนหางเสือ 2 นัด แล้วก็มาโดนไอ้กราวรัน แหมนัดนี้น่าเสียวมาก มันพุ่งเข้ามาอย่างนี้ (ทำมือประกอบ) มันไม่โดนพื้นเรือ มันเข้าช่องกระจก ลูกปืนก็พาดเอาข้างมาตีเรือ ป้อม(สะเก็ด)เนี่ยแตก เนี่ยไปโดนไอ้เจ้าชุนแขนขาด เนี่ยๆ ไอ้ระเบิดที่ระเบิดเข้าไป โดนเจ้าชุนแขนขาด 

พลฯชุนแขนขาด ปีนขึ้นมาจะช่วย ต้นปืนเห็นว่า ขึ้นมาแล้วก็มาวนเวียนกันอยู่ กลัวจะเสียขวัญ ก็เลยกดหัวลงไปก่อน ลงไปแล้วยังไปช่วยโยกตำแหน่งของปืน ถามตอนไปเจอที่โรงพยาบาลว่าไม่เจ็บหรือไง บอกว่าไม่เจ็บเลยตอนนั้น ชา 

พลทหาร ชุน แซ่ฉั่ว
ประดับยศพันจ่าเอก
เหรียญกล้าหาญ และ
เหรียญชัยสมรภูมิ

กระสุนขนาด 6 นิ้ว ที่ทะลุเข้าทางช่องกระจก
จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ

1 นัดจากตับที่สามระเบิด ถ้ามันเข้าไปตรงๆก็ทะลุ ถ้าทะลุก็เข้าคลังกระสุน เรียบร้อยทั้งลำเลย ตับที่สี่มาหัวเรือ

เวลารบกัน ไอ้ที่มันจะไปเที่ยวดูว่า... มองไม่เห็น ยาก ยาก เพราะต่างทำหน้าที่ ผมนี่ก็เรียงขึ้นไป พลปืนเขาก็ว่ากันไปใช้ความชำนาญ"

ร.ล.ธนบุรี ถูกทิ้งระเบิด 

"ระเบิดมาลงตรงกลางห้องครัว ตายหมด 4 คน  2 ลูก อีกลูกลงระหว่างปืน (75 มม.) 1 กับ 3 แม่นมาก มองเห็นเลย (ยกมือขึ้นชี้ฟ้ามองตาม) สมัยก่อนการสื่อสารแย่ มีเครื่องหมายกากบาทที่หัวเรือ แต่คงมองไม่เห็นเพราะไฟมันไหม้ 

ผมก็ไม่รู้ว่าตัวไปถูกเขาหรือเปล่า เลือดท่วมไปทั้งตัว อุ้มเพื่อน ผมก็โดน โดน มันโดน พอมันทิ้งลูกระเบิด มองเห็น โจนลงบันได 5 คนลงมาในคราวเดียวกัน ผมหัวทิ่มกับป้อม"

ร.ล.ระยอง ไม่ได้เข้าร่วมรบ

"เรือระยองก็อยู่กับหมู่เรือผม ออกไปลาดตระเวณ เห็นเขาก็ยอมรับว่าเขา... แต่ไม่กล้าเข้าไป เขาฟีลเรือสี่ห้าลำ เขามีปืน 75 แค่ 3 กระบอก ทีนี้เขาก็ไม่กล้า"

ร.ล.ช้าง เข้ามาช่วยเหลือ ร.ล.ธนบุรี ที่กำลังไฟไหม้เสียหายหนัก

"เรือช้างยังงี้เลย(ยกหัวแม่มือ) กำลังยิงกันอยู่ก็เข้าไปเลย เรือช้างผมเคยอยู่  หัวเรือมันสูง มองไกลๆเหมือนปืน (ข้าศึกคงจะ)นึกว่าเรือพิฆาตออกมาช่วย กับมันอาจกลัวเครื่องบิน"

กองเรือข้าศึกไม่รุกไล่ต่อ แต่ถอนกำลังกลับ

"เข้าใจว่าเขากลัวเครื่องบินจะโจมตี มันกะจะขึ้นจังหวัดตราดกับจันทบุรี มันมีเรือมาอีกสองลำ เรืออยู่ท้ายข้างนอก กะว่าขึ้นบกได้จะขึ้นจันทบุรีลำนึง ตราดลำนึง ขนทหาร นย.(นาวิกโยธิน)ของมัน ตอนนั้นแม่ทัพเรือเขาก็บอกว่า มันจะมายึดจันทบุรี ยึดตราด 

(เรือลาม็อตต์ปิเกต์)ไม่ได้(ไม่)ตามเข้ามาเพราะน้ำตื้น ตรงนั้นน้ำยังลึก ไม่เข้ามาในนี้เพราะไม่มีเกาะบัง 

นักโทษ(บนเกาะง่าม)บอกว่า เอ มันต้องโดนกันบ้างน่ะ พอนั่นละก็ มันชักธงตึงเสาเลย แล้วเปิดหวูด วู้ดๆๆ แล้วมันหนีไปเลย นักโทษ นักโทษที่ทำงานอยู่ทางสนามบินน่ะ "

เรือลาม็อตต์ปิเกต์ ถูกยิงได้รับความเสียหายบ้างหรือไม่

"เราคงยิงถูกเขาบ้าง แต่คงไม่จัง เพราะว่าหลังจากเรือ(ร.ล.ธนบุรี)จมแล้ว นายทหารเรือคนหนึ่งเขาเป็นฑูตอยู่ไซ่ง่อน แกก็ปลอมตัวเป็นคนงานไปรับจ้างทำงาน รับจ้างทำงานทำความสะอาดเรือ เป็นกุลี บอกว่ามันก็แย่เหมือนกันแหละ ไม่ต้องเสียใจ ไอ้ที่มันโดนมันก็โดนเครื่องบินทิ้ง ไม่ได้โดนเรายิง เสียซ่อมอยู่ในบ่อน เรือไปเทียบที่ไซ่ง่อนจะมีฉากกั้นไว้ "

(เรื่องนี้ บุตรชายของท่านที่ร่วมรับฟังการสนทนาอยู่ด้วย ได้ขยายความให้ชัดเจนว่า) "พล.ร.อ. นิตย์ ศรีสมวงศ์ ท่านเกษียณแล้ว ท่านเป็นฑูตอยู่ที่เวียดนาม แล้วท่านก็ไปรับเรือพงันด้วย แกก็มีเพื่อน ไปอยู่นานๆนี่ก็มีเพื่อน เพื่อนก็มีพ่อเป็นนายท่าเรือ แล้วก็บอกว่าเรือลาม็อตต์ปิเกต์นี่ถูกยิง เสร็จแล้วก็พอเปิดให้คนชม แต่เขาจะเอาข้างที่ถูกยิงน่ะไว้ข้างนอก มีกั้นเชือกมีอะไร ครูนิตย์ท่านก็เล่าให้นักเรียนที่เรียนเสธ. เรียน วทร. เรียนอาวุโสอยู่"

การกู้ ร.ล.ธนบุรี และแผนการนำไปซ่อมแซมที่ญี่ปุ่น 

"กู้แล้วเอามาไว้ที่สัตหีบ ทำความสะอาด ญี่ปุ่นมากู้เรือให้ แล้วก็มาบุ๊คตัวผมกับคนอื่นๆแล้ว 4 คน อยู่เฝ้าเรือจะให้ไปญี่ปุ่น ก็ดีใจแล้วได้ไปญี่ปุ่นแล้ว

ในที่สุดเรือจอดอยู่ที่สัตหีบ มัดเชือกเตรียมพร้อมแล้วจะจูงไป ขึ้นไปที่ เค้าเรียกม้าน้ำของทหารเรือ ไปประชุม ประชุมไปประชุมกันมา ยังไงไม่รู้ คงจะไปพูดยังไงไม่รู้ ญี่ปุ่นมันต่อยนายศรีฯ ซะปากแตกเลย เลิก จบกัน ศรีฯ น่ะ ใครๆไม่รู้จักก็แย่แล้ว ดุน่าดูเลย ผมเองน่ะไม่อยากเข้าใกล้ " 

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวที่พวกเราได้รับฟังจากท่านโดยตรง ตลอดเวลา 2 ชั่วโมงของการสนทนาครับ คงต้องยอมรับว่า ในบางเรื่องหรือบางรายละเอียด อาจไม่ตรงกับหลักฐานที่พบหรือพิสูจน์ทราบกันในภายหลังนัก แต่ก็ถือว่าไม่ได้ขัดแย้งกับภาพใหญ่ๆ ที่มีการสรุปให้เป็นข้อยุติไปแล้ว 

นอกจากนั้น สิ่งที่ท่านถ่ายทอดออกมา อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ท่านพบเห็นด้วยตัวเองทั้งหมด ตามที่ท่านได้ออกตัวไว้แล้วว่า "เวลารบกัน ไอ้ที่มันจะไปเที่ยวดูว่า... มองไม่เห็น ยาก ยาก เพราะต่างทำหน้าที่ " ดังนั้น หลายเรื่องจึงเป็นการรับฟังต่อๆกันมาจากผู้ที่ท่านรู้จักเกี่ยวข้อง สั่งสมอยู่ในความทรงจำเป็นเวลานานเกือบ 70 ปี หลังจากเหตุการณ์สู้รบในวันนั้น แต่ที่น่าทึ่งกว่าก็คือ ท่านยังสามารถเล่าให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานเช่นพวกเราฟังได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ แม้จะอยู่ในวัย 90 แล้ว

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจที่สุดก็คือ หลายๆเรื่องสามารถนำไปสู่การ "เปิดประเด็นใหม่" ให้นักประวัติศาสตร์และผู้ที่สนใจ นำไปใช้ตั้งต้นค้นหาหลักฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม หาข้อสรุปอันเป็นยุติกันได้อีกนะครับ ทุกๆประเด็นที่จะนำมาชำระใหม่ ล้วนมีคุณค่าในการเติมเต็มเรื่องราวอันถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของชาติอีกหน้าหนึ่งทั้งสิ้น

สุดทายนี้ ผมหวังว่าทุกท่านจะได้รับความเพลิดเพลิน และได้มุมมองที่หลากหลายมากขึ้นจากเรื่องราวของ ร.ล.ธนบุรีและการรบที่เกาะช้าง จากความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์อีกท่านหนึ่ง ดังที่ถูกนำมาถ่ายทอดไว้ ณ ที่นี้นะครับ

(คลิกที่นี่สำหรับความเดิมจากตอนที่แล้ว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น