สุขใจกับเพลงไทยประสานเสียง (3)

เมื่อปี พ.ศ. 2515 เครื่องรับโทรทัศน์ในเมืองไทยส่วนใหญ่ยังเป็นระบบอะนาล็อก 625 เส้นครับ ทุกเครื่องไม่ว่าจะเป็นขาวดำหรือสี ล้วนใช้จอภาพแบบ CRT หรือ Cathode - Ray Tube ที่ต้องมีตู้สี่เหลี่ยมทำด้วยไม้อย่างหนาหุ้มไว้ และยังไม่มีรีโมทคอนโทรล ดังนั้นหากต้องการจะเปิด ปิด เปลี่ยนช่อง ปรับระดับเสียง ฯลฯ ผู้ชมจะต้องลุกขึ้นไปหมุนปุ่มบังคับที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้า ข้างๆจอภาพด้วยตัวเองครับ (ยกเว้นเสียแต่ว่ามีผู้อื่นให้ใช้)

ยุคนั้น โทรทัศน์สียังถือเป็นของฟุ่มเฟือยและแพงมากครับ ราคาเป็นหมื่นๆบาท สำหรับจอมาตรฐานขนาด 17 และ 19 นิ้ว  ในขณะที่โทรทัศน์ขาวดำจอใหญ่ที่สุดในเวลานั้นคือ 25 นิ้ว ยังราคาแค่ห้าหกพันบาท (ซึ่งก็นับว่าแพงโขอยู่)

โทรทัศน์ที่ผมใช้ดูรายการ "สุขใจ" เป็นแบบจอภาพขาวดำ ยี่ห้อธานินทร์ ขนาด 14 นิ้วครับ และต้องยกขึ้นไปดูที่ชั้นบนของบ้าน เพราะเวลานั้นไทยทีวีสีช่อง 3 ยังอยู่ในช่วงแรกๆของการทดลองออกอากาศจากสถานีที่หนองแขม อันถือว่าค่อนข้างไกลจากกรุงเทพฯในเวลานั้น

ไม่ใช่เครื่องนี้ แต่ก็ประมาณนี้ครับ

ด้วยสัญญาณส่งที่ยังไม่แรงนัก และระยะทางที่ค่อนข้างไกลดังกล่าว ทำให้หลายบ้านในกรุงเทพฯเวลานั้นไม่สามารถรับภาพและเสียงจากช่อง 3 ได้อย่างชัดเจนตามที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอยู่ชั้นล่างของบ้านในบริเวณที่ถูกแวดล้อมไปด้วยตึก (ต่างไปจาก ททบ.ช่อง 7 สี ที่เปิดดำเนินการมาก่อน และส่งสัญญาณออกอากาศมาจากแถวหมอชิตนี้เอง)

ส่วนเครื่องมือที่ผมใช้ในการอัดเสียงนั้น เป็นเครื่องเล่นเทปแคสเส็ตต์ยี่ห้อสแตนดาร์ด รุ่นใดจำไม่ได้เสียแล้วครับ จำได้แต่เพียงว่าเป็นแบบที่นักข่าวชอบใช้กัน เพราะนอกจากจะใช้แบตเตอรี่ได้ด้วยแล้ว ยังมีไมโครโฟนเสียบสายเข้ากับตัวเครื่อง และมีกระเป๋าสะพาย เพื่อความสะดวกในการนำออกไปตระเวณใช้งานนอกสถานที่ด้วย

ไม่ใช่ยี่ห้อนี้ แต่ก็แบบนี้เลยครับ

เทปแคสเส็ตต์ที่หาซื้อได้ทั่วไปในตลาดเวลานั้น มีความยาวในการบันทึกให้เลือกได้ไม่เพียงแค่ 60 หรือ 90 นาทีเท่านั้น แต่ยังมี 120 นาทีให้เลือกด้วยครับ ผู้รู้บางท่านบอกว่า เทปความยาว 120 นาทีนี้ นอกจากจะบันทึกได้นานกว่าแล้ว ยังให้คุณภาพเสียงดีที่กว่า เพราะมีความเนียนบางที่สุด (หมายถึง อัดเพลงฟังได้ทั้งนานกว่าและเพราะกว่านั่นแหละครับ) แต่ปรากฏว่า เมื่อนำไปใช้งานบ่อยๆอย่างจริงๆจังๆแล้ว กลับติดขัดยุ่งเหยิงได้ง่ายกว่ามากด้วย ทำให้หมดความนิยมไปในเวลาไม่นานนัก เหลือเพียงแบบ 60 และ 90 นาที

ส่วนหนึ่งของเทปที่ใช้ในการบันทึกเสียงครับ
นำมาให้ชมทั้งสามขนาด

การอัดเสียงเพลงนั้น ในช่วงแรกๆ ก็ใช้วิธีนำไมโครโฟนไปวางไว้หน้าลำโพงของโทรทัศน์กันแบบดิบๆเลยครับ เนื่องจากโทรทัศน์เครื่องนั้นไม่มีช่อง Line Out ให้สามารถต่อสายส่งสัญญาณเสียงเข้าช่อง Line In ของเครื่องอัดเสียงได้โดยตรง

ดังนั้น คุณภาพเสียงที่บันทึกไว้ จึงอยู่ในระดับเท่าที่ความละเอียดของลำโพงแบบพื้นๆในโทรทัศน์เครื่องเล็กๆ และไมโครโฟนของเครื่องอัดเสียงรุ่นนักข่าวภาคสนาม จะพอให้ได้ เท่านั้นเองครับ

นอกจากนั้นแล้ว ความที่บ้านไม่ใช่ห้องอัดเสียง และไม่สามารถปิดหน้าต่างให้หมด (เนื่องจากไม่มีแอร์) ทำให้เกิดความยากลำบากในการป้องกันเสียงรบกวนที่ไม่พึงประสงค์หลากหลาย ทั้งที่พอจะควบคุมได้ ไปจนถึงควบคุมไม่ได้เลย เช่นเสียงไอ จาม กบ เขียด จักจั่น หมาเห่า แมวร้อง ไปจนถึงเสียงเครื่องบิน รถมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กๆ และระฆังไทยยามตีบอกเวลาตอนดึกๆ

แต่ยังพอมีโชคในช่วงหลังๆบ้างครับ เมื่อทางช่อง 3 เริ่มทำการถ่ายทอดเสียงการออกอากาศรายการสดทางวิทยุเอฟเอ็มไปพร้อมกัน ผมจึงได้ใช้ประโยชน์จาก Line Out ของเครื่องรับวิทยุเอฟเอ็มแบบกระเป๋าหิ้วยี่ห้อโซนี ด้วยการเปิดวิทยุรับฟังเสียงจากรายการไปพร้อมๆกับโทรทัศน์เสียก่อน แล้วเสียบสายเพื่อส่งสัญญาณเข้าเครื่องบันเสียงโดยตรง ด้วยวิธีนี้จึงสามารถยกระดับคุณภาพเสียงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ประมาณหนึ่ง และตัดปัญหาเสียงรบกวนอันไม่พึงประสงค์ทั้งหลายออกไปได้

คือเครื่องนี้เลยครับ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคไม่ได้มีเพียงแค่นี้ครับ ยังมีปัจจัยหลักอีกสามประการที่มีผลโดยตรงต่อคุณภาพเสียงในกรณีนี้อีก ไม่ว่าคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกอยู่ที่บ้านจะดีเลิศสักเพียงไหน

ประการแรกคือ การออกอากาศทางโทรทัศน์ในเวลานั้น ระบบเสียงยังไม่เป็นสเตอริโอครับ อีกประการหนึ่งคือ การจัดวางและตั้งระดับเสียงผ่านไมโครโฟนหลายๆตัวภายในห้องส่งของสถานี ที่ถูกแขวนไว้เหนือเครื่องดนตรีแต่ละกลุ่มของวงดนตรีขนาดใหญ่แบบซิมโฟนีออร์เคสตรานั้น มักจะทำให้เสียงที่ออกมาไม่ค่อยสมดุลย์และกลมกลืนเข้ากันอย่างลงตัวนัก และดูเหมือนว่าในการแสดงแต่ละครั้งก็มีการจัดวางจัดตั้งไว้ไม่เหมือนกัน ประการสุดท้ายคือ ห้องส่งของสถานีไม่ใช่หอแสดงดนตรี ที่มีการใช้วัสดุบุผนัง เพดาน ฯลฯ แบบพิเศษสำหรับควบคุมเสียงสะท้อน

ด้วยข้อจำกัดทั้งหมดในการบันทึกเสียงดังที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ บวกด้วยสภาพของเนื้อเทปที่ถูกเก็บไว้เป็นเวลานานกว่า 40 ปี เมื่อนำมาเล่นใหม่จึงพบว่า แต่ละเพลงให้เสียงที่มีระดับความดัง ความละเอียดของเสียงร้อง เสียงดนตรี เสียงก้อง ไปจนถึงเสียงรบกวน แตกต่างกันหลากหลาย

เทปเก่านำมาเล่นใหม่ บางม้วนก็ต้องเล่นไปซ่อมไปครับ

และถึงแม้ว่าโปรแกรมที่ผมนำมาใช้ในการแปลงเสียงจากเทปให้เป็นสัญญาณเสียงดิจิตอล จะมีเครื่องมือสำหรับปรับแต่งคุณภาพเสียงโดยรวมให้ดีขึ้นได้อีกระดับหนึ่ง แต่ก็มีหลายเพลงครับที่ผมตัดสินใจขอคัดออกไปก่อน เพราะยังไม่สามารถปรับปรุงเสียงให้อยู่ในสภาพที่พอจะฟังได้อย่างรื่นรมย์ (คลิกที่นี่เพื่อเลือกรับฟังเพลงที่เผยแพร่ไปแล้ว)

ทั้งนี้ก็ได้แต่เพียงคาดหวังว่า ในอนาคตจะยังมีเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ๆ ทยอยออกมาให้เลือกใช้ในการปรับปรุงแก้ไขสภาพของเสียงที่มีความบกพร่อง หรือเสียหายไปแล้วบ้างเหล่านี้ ให้กลับมาเป็นเสียงดนตรีที่ไพเราะสมบูรณ์แบบ ให้ผมและทุกท่านได้ "สุขใจกับเพลงไทยประสานเสียง" ไปด้วยกันอย่างเต็มที่ครับ

ม.ต่อศักดิ์
ตุลาคม 2563

(คลิกที่นี่เพื่อติดตามความเดิมจากตอนที่แล้ว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น