สุขใจกับเพลงไทยประสานเสียง (1)

ผมมีความสนใจและชอบติดตามฟังทั้งเพลงคลาสสิคของฝรั่งและเพลงไทยเดิมของเรา มาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นครับ สมัยนั้นสถานีโทรทัศน์ทุกช่องจะมีรายการประจำที่เป็นการแสดงดนตรีคลาสสิคและดนตรีไทยให้รับชมรับฟังกันอยู่เสมอ

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2515 ผมได้ทราบข่าวจากทางใดก็จำไม่ได้เสียแล้วครับว่า สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จะจัดรายการชื่อ "สุขใจ" เป็นการแสดงดนตรีที่บรรเลงโดยวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากร อันถือได้ว่าเป็นวงดนตรีแบบซิมโฟนีออร์เคสตราที่สมบูรณ์แบบที่สุด และมีผลงานการแสดงต่อเนื่องมากที่สุดวงหนึ่งของไทยในเวลานั้น (คู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกันมีเพียงวงดุริยางค์ราชนาวีเท่านั้นครับ) รายการนี้จะมีเป็นประจำทุกคืนวันเสาร์เวลาสามทุ่มเดือนละครั้ง

ผมค่อนข้างจะตื่นเต้น เพราะก่อนหน้านั้นถ้าอยากฟังการบรรเลงของวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรละก็ ต้องเดินทางออกจากบ้านไปรับฟังเองครับ ไม่ที่สังคีตศาลาก็ที่โรงละครแห่งชาติ ส่วนกำหนดการแสดงก็ต้องขวนขวายหาด้วยตัวเองเช่นกัน

ดังนั้น การได้นั่งๆนอนๆดูๆฟังๆอยู่หน้าทีวีที่บ้านในทุกคืนวันเสาร์ วันรุ่งขึ้นไม่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน ย่อมเป็นความรื่นรมย์และสะดวกสบายอย่างมาก ถึงแม้เสียงดนตรีจะขาดความเป็นธรรมชาติไปบ้างก็ตาม 

ถึงแม้จะตื่นเต้น แต่ผมก็ไม่ลืมที่จะเตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์อัดเสียงให้พร้อมไว้ล่วงหน้า ตั้งใจว่าจะบันทึกเพลงเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด เอาไว้ฟังซ้ำได้อีกในโอกาสต่อๆไปครับ

รายการ "สุขใจ" นี้ มีผู้ดำเนินรายการคือ คุณจารุณี รำไพ ครับ ท่านที่รุ่นราวคราวเดียวกับผมคงจะพอจำรายการ "20 คำถาม" ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จัดโดย พันเอกการุณ เก่งระดมยิง นักจัดรายการสาระบันเทิงชื่อดังของค่ายโทรทัศน์กองทัพบกในเวลานั้นได้นะครับ ผู้ร่วมรายการ "20 คำถาม" ทุกท่าน (ซึ่งคุณจารุณีก็เป็นหนึ่งในนั้น) ล้วนเป็นศิษย์เอกด้านการสื่อสารมวลชนของท่านผู้การการุณ ที่หลายคนได้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นคุณดำรง พุฒตาล คุณธรรมรัตน์ นาคสุริยะ สำหรับคุณจารุณีนั้น ปัจจุบันทราบว่าท่านได้เกษียณอายุราชการไปในยศพลตรีหญิงครับ

เพลงที่ทางวงนำมาบรรเลงและขับร้องในการแสดงร่วม 3 ชั่วโมงของรายการนั้น ในครึ่งแรกจะเป็นเพลงคลาสสิคและเพลงสากลที่ได้รับความนิยมเป็นหลักครับ ส่วนในครึ่งหลังของรายการ ที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือการบรรเลงและขับร้อง "เพลงไทยประสานเสียง" ซึ่งเป็นการนำทำนองเพลงไทยเดิมมาเรียบเรียงเสียงประสานในแบบตะวันตก แต่บรรเลงและขับร้องตามแบบแผนของดนตรีไทยเดิม มีการนำฉิ่ง กลองสองหน้า ตะโพน โทน ฯลฯ อันเป็นเครื่องดนตรีของไทยมาใช้ในวงดุริยางค์สากลเพื่อให้จังหวะด้ว

เหตุผลที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการบรรเลง "เพลงไทยประสานเสียง" ในรายการ "สุขใจ" นี้มี 2 ประการครับ ประการแรกคือ ก่อนหน้านั้นผมเคยได้ยินได้ฟังแต่เพลงที่เป็นการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีล้วนโดยไม่มีการขับร้อง และมักจะเป็นเพลงที่ใช้ในการเปิด หรือตั้งต้นรายการของสถานีโทรทัศน์เสียเป็นหลัก 

สถานีโทรทัศน์ที่ว่านี้ก็คือ ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ครับ หลายท่านคงพอจำได้ว่า ใช้เพลง แขกเชิญเจ้า ในช่วงทดสอบสัญญาณก่อนเปิดสถานี พอเปิดสถานีด้วยภาพเมขลาล่อแก้วแวววับ ก็จะใช้เพลง ต้นวรเชษฐ์  จากนั้นก่อนประกาศแจ้งรายการประจำวัน ก็จะใช้เพลง ปฐม และพอถึงรายการสุดท้ายประจำวันนั้น ก็จะใช้เพลง พม่ารำขวาน  (ขอเชิญคลิกฟังทุกเพลงกันได้จากยูทูป โดยผมได้ทำลิงค์ไว้ที่ชื่อเพลงแล้วนะครับ) 

ภาพทดสอบสัญญานก่อนเปิดสถานีโทรทัศน์
ไทยทีวี ช่อง 4 ในระบบขาวดำ 525 เส้น

เมขลาล่อแก้วแวววับ

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ผมมีความติดใจสงสัยว่า เหตุใดท่านผู้ดำเนินรายการจึงใช้คำว่า "เพลงไทยประสานเสียง" แทนที่จะใช้คำว่า "เพลงไทยเดิมประสานเสียง" ซึ่งเรื่องนี้เพิ่งจะมาทราบคำอธิบายในภายหลังดังนี้ครับ

"คำว่า เพลงไทยประสานเสียง นั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นการนำเพลงไทยเพลงไหนก็ได้ไปเรียบเรียงเสียงประสานเสียใหม่ในแบบสากลตะวันตก 

เพลงไทยประสานเสียง มีความหมายเฉพาะเจาะจง หมายถึง เพลงไทย ที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อบรรเลงและขับร้องตามจังหวะและแบบแผนที่สืบทอดกันมาแต่อดีต (หรือบางทีก็นิยมเรียกกันว่า เพลงไทยเดิม)เท่านั้น อันแตกต่างไปจากเพลงไทยในยุคหลัง ที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อบรรเลงและขับร้องตามจังหวะและแบบแผนอย่างสากล (หรือที่มักนิยมเรียกกันว่า เพลงไทยสากล

จากนั้นก็นำ เพลงไทย นี้ มาเทียบระดับเสียงให้ตรงหรือใกล้เคียงกับโน้ตสากลมากที่สุดเสียก่อน แล้วนำไปเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับการบรรเลงด้วยวงซิมโฟนีออร์เคสตรา โดยยังคงแบบแผนของการบรรเลงอย่างเพลงไทยไว้" 

สิบปากกว่าก็ไม่เท่าหูฟังในกรณีนี้นะครับ ผมจึงขอยกสักตัวอย่างหนึ่งขึ้นมาเป็นการสาธิต โดยเลือกเพลง ลาวดำเนินทราย  ให้ทุกท่านลองคลิกฟังความแตกต่างระหว่างการขับร้องและบรรเลงเพลงเดียวกันนี้ในแบบ "เพลงไทย" กับ "เพลงไทยสากล" และ "เพลงไทยประสานเสียง" 

ผมเข้าใจว่า กรมศิลปากร เป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า "เพลงไทยประสานเสียง" ตามความหมายนี้ และเป็นเพียงองค์กรเดียวครับที่ยังทำหน้าที่อนุรักษ์เพลงเหล่านี้ไว้ โดยมีวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรเป็นผู้นำมาบรรเลงและบันทึกเสียงในโอกาสต่างๆกัน เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ (ท่านสามารถศึกษาประวัติความเป็นมาของ "เพลงไทยประสานเสียง" และวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากร เพิ่มเติมได้ด้วยการคลิกที่นี่และที่นี่ นะครับ)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ดังที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้าแล้วครับว่า "เพลงไทยประสานเสียง" ที่นำมาบรรเลงและขับร้องในรายการ"สุขใจ" นี้ ไม่ได้เป็นการบรรเลงดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทั้งการบรรเลงและขับร้องในแบบแผนของเพลงไทยแต่ดั้งเดิม ที่แต่ละท่อนจะมีการแยกเป็นทางร้องทางรับ มีเอื้อน มีเครื่องดนตรีของไทยตีให้จังหวะและหน้าทับ ได้อารมณ์เหมือนการฟังเพลงไทยที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องดนตรีสากลแทนเครื่องดนตรีไทยทั้งวง ต่างไปจากที่เคยฟังมาก่อนหน้านั้นทั้งหมด

สิบปากว่าอย่างไร ก็คงไม่เท่าหูฟังอีกแล้วนะครับ ผมจึงขอหยิบตัวอย่างมาสักเพลงหนึ่งก่อน เป็นเพลงชื่อ เดือนค้างฟ้า ที่ถูกบันทึกไว้ในแผ่นเสียงเพลงไทยของกรมศิลปากร น่าจะในราวปี พ.ศ. 2512 ครับ

ผมขอเกริ่นเรื่อง"สุขใจกับเพลงไทยประสานเสียง" ไว้ในตอนนี้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ โดยในตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงประวัติและเรื่องราวของการนำทำนองเพลงไทยมาปรับให้เป็นโน้ตสากล ก่อนจะนำไปเรียบเรียงเสียงประสานโดยครูเพลงของกรมศิลปากรผู้มีความรู้ความสามารถหลายท่านในเวลานั้น 

จากนั้นจะลองแยกแยะให้เห็นความแตกต่างของการเรียบเรียงเสียงประสานแบบสากล แต่ยังคงเอกลักษณ์ของการบรรเลงแบบ "เพลงไทย" เปรียบเทียบกับการเรียบเรียงฯในอีกแนวทางหนึ่ง สำหรับการบรรเลงอย่างเต็มรูปแบบเพลงคลาสสิคของฝรั่ง 

ปิดท้ายด้วยการตามไปดูผลงานการบันทึกและเผยแพร่ "เพลงไทยประสานเสียง" โดยกรมศิลปากร ดังที่ปรากฏอยู่ตั้งแต่ในอดีตมาจนปัจจุบัน ซึ่งผมอยากตั้งข้อสังเกตว่ามีบางอย่างที่สำคัญมากขาดหายไป จนนำมาสู่แรงจูงใจให้ผมเขียนบทความเรื่องนี้ขึ้น และคิดว่าพอจะมีส่วนช่วยในการนำบางส่วนที่ขาดหายไปนี้มาช่วยเผยแพร่ขึ้นอีกทางหนึ่งได้ด้วยครับ

ม.ต่อศักดิ์
ตุลาคม 2563

(คลิกเพื่อติดตามตอนต่อไปได้ที่นี่)

2 ความคิดเห็น:

  1. ผมรู้จักงานชุดนี้ ตอนเด็กๆ ราวๆปี 2521 จากเทปคาสเซ็ทของคุณพ่อ เข้าใจว่าบันทึกมาจากแผ่นเสียงอีกที แต่ งานลักษณะเดียวกัน เป็นงานที่ทรงคุณค่ามากครับ ได้กลับมาฟังเวอร์ชั่นบรรเลงสด ขอบคุณท่านที่ได้ บันทึกมรดกที่มีค่านี้ไว้

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณที่ติดตามรับฟังครับ และดีใจที่มีผู้เห็นคุณค่าของงานที่ผมเห็นว่าเป็นมรดกของชาติที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง หากมีโอกาสโปรดช่วยกันเผยแพร่ให้เป็นที่รับทราบและรับฟังกันได้ในวงกว้างขึ้นอีกด้วยนะครับ ขอบคุณมากตรับ

      ลบ