สุขใจกับเพลงไทยประสานเสียง (2)

เคยมีผู้ศึกษาค้นคว้าประวัติการบันทึกโน้ตเพลงไทยระบุไว้ครับว่า ลาลูแบร์ หัวหน้าคณะฑูตของฝรั่งเศส ผู้ที่เดินทางมาเจรจาเรื่องการค้าและเผยแพร่ศาสนากับกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างที่พำนักอยู่ในกรุงฯนั้น ได้นำเพลงไทยเพลงหนึ่งที่ถูกเทียบเสียงแล้วบันทึกลงเป็นโน้ตสากลกลับไปยังฝรั่งเศสด้วย เพลงนี้ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ สายสมร  (คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่)

จึงนับได้ว่า เพลง สายสมร  นี้ เป็นเพลงไทยเพลงแรก ที่มีการเทียบเสียงและบันทึกโน้ตไว้เป็นแบบสากลครับ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่พบหลักฐานว่ามีการบันทึกโน้ตเพลงไทยกันไว้อีก จนกระทั่งถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 7 จึงได้มีการริเริ่มนำเพลงไทยอีกหลายเพลงมาทำการเทียบเสียงบันทึกโน้ตสากลกันอย่างจริงๆจังอีกครั้ง เป็นจำนวนหลายร้อยเพลง (คลิกเพื่อติดตามรายละเอียดอันน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งได้ที่นี่)

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ของกรุงรัตนโกสินทร์  พระเจนดุริยางค์ ได้นำเพลง สายสมร  มาเรียบเรียงและประสานเสียงสำหรับการบรรเลงด้วยวงดุริยางค์สากล นอกจากนั้นยังได้นำเพลงนี้ไปบรรจุไว้เป็นท่อนแรกของเพลงบรรเลงชุด ศรีอยุธยา ด้วยครับ (คลิกเพื่อรับฟังเพลง สายสมร ได้ที่นี่และเพลงชุด ศรีอยุธยา ได้ที่นี่)

พระเจนดุริยางค์ (ปีเตอร์ ไฟต์ หรือ ปีติ วาทยะกร) เป็นครูเพลงผู้มีบทบาทสำคัญมากในการบันทึกโน้ตเพลงไทยไว้อย่างเป็นระบบ และนำมาเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับการบรรเลงด้วยวงดุริยางค์สากล กลายเป็น "เพลงไทยประสานเสียง" ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับความเป็นสากล แต่ไม่ถึงกับถูกครอบงำด้วยแนวทางและลีลาของการบรรเลงในรูปแบบของเพลงคลาสสิคอย่างฝรั่งจนเกินไป อย่างที่เรามักที่ได้ยินได้ฟังกันจากวงซิมโฟนีออร์เคสตราหรือฟิลฮาร์โมนิคของไทย หลายๆวงในปัจจุบัน (ศึกษาประวัติของศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์โดยย่อได้ที่นี่ และอย่างละเอียดได้ที่นี่)

พระเจนดุริยางค์

แนวทางการเรียบเรียง "เพลงไทยประสานเสียง" ในแบบของท่านนี้ ยังได้ถูกถ่ายทอดกันอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางศิษย์ผู้มีผลงานมากมายอีกหลายท่านครับ เช่น ครูปรุง ประสานศัพท์, ครูวิโรจน์ ทรรทรานนท์, ครูโฉลก เนตตะสุต, ครูประสาน สุทัศน์ ณ อยุธยา, ครูสุริยัน รามสูต และครูชลหมู่ ชลานุเคราะห์ โดยที่ผลงานของทุกท่านยังคงยึดถือหลักการผสมผสานเพลงไทยกับความเป็นสากล แต่รักษาเอกลักษณ์และจิตวิญญาณของเพลงไทยไว้อย่างครบถ้วน 

ผมเองไม่ได้เป็นผู้มีความรู้ทางดนตรีสักเท่าไรนักครับ อาศัยแต่เพียงชอบฟังและติดตามอยู่เสมอเท่านั้น จริงๆแล้วรู้สึกชื่นชมกับพัฒนาการทางดนตรีสากลแนวคลาสสิคของไทย ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลังๆนี้มาก

นอกจากนั้นยังดีใจ ที่ศิลปินรุ่นใหม่ๆนอกจากจะไม่ลืมเพลงไทยแล้ว ยังนำเพลงไทยมาประดิดประดอยใหม่อย่างประณีตบรรจง จนฟังดูเป็นเพลงคลาสสิคอย่างเต็มรูปแบบ ให้ฝรั่งมังค่าได้เห็นว่าเมืองไทยเราไม่ได้ด้อยไปกว่าเขาเลยในเรื่องศิลปและมรดกทางดนตรี

แต่หากจะให้แยกแยะความแตกต่างระหว่าง "เพลงไทยประสานเสียง" กับเพลงไทยที่นำไปทำเป็นเพลงคลาสสิคกันอย่างจริงจังนั้น ผมคงพอจะอธิบายได้แต่เพียงคร่าวๆ ดังที่ผมได้เคยกล่าวไปแล้วครับว่า "เพลงไทยประสานเสียง" นั้น ยังคงไว้ซึ่งการบรรเลงตามท่วงทำนอง ท่อน ลีลา และจังหวะตามแบบแผนเดิมของดนตรีไทยทุกประการ 

ถึงแม้ว่าบางเพลงอาจมีการเพิ่มทำนองและจังหวะขึ้นในตอนต้นและจบท้าย แต่ก็จะเป็นเพียงสั้นๆ เพื่อไม่ให้เพลงขึ้นต้นหรือจบลงอย่างห้วนๆเกินไป

ทำให้โดยรวมแล้ว ผมอยากเปรียบเปรยว่า เป็นการนำศิลปวิทยาการดนตรีของทางตะวันตกและเครื่องดนตรีชั้นสูงของฝรั่งมารับใช้เพลงไทย

ทั้งหมดนี้ ต่างไปจากการนำไปเรียบเรียงเพื่อการบรรเลงแบบเพลงคลาสสิค ที่ต้องมีท่อนเร็วสลับท่อนช้า มีจังหวะเร่งสลับลาก มีช่วงกระหึ่มสลับแผ่ว มีหยุดระหว่างท่อน มีอินโทรฯ ฟินาเล่ ฯลฯ

ซึ่งผมอยากจะเปรียบเปรยในมุมกลับว่า เป็นการนำเพลงไทยไปปรับเปลี่ยนกริยามารยาทเสียใหม่แล้วแต่งองค์ทรงเครื่องให้เต็มยศเป็นแบบฝรั่ง

ขอสาธิตความแตกต่างดังที่ได้บรรยายไป ด้วยการยกตัวอย่างมาให้ทุกท่านได้เปรียบเทียบกันนะครับ ขอเลือกเพลง เขมรไทรโยค มาให้ลองรับฟังครับ (คลิกเพื่อรับฟังได้ที่นี่ เปรียบเทียบกับที่นี่)

กับอีกสักตัวอย่างครับ เพลง พม่ารำขวาน โปรดลองเปรียบเทียบดูนะครับ (คลิกเพื่อรับฟังที่นี่ เปรียบเทียบกับที่นี่)

เคยมีนักวิจารณ์บางท่านกล่าวว่า ข้อด้อยของศิลปดนตรีไทยคือความอนุรักษ์นิยม และความถือตัวว่าเป็นของสูงแตะต้องไม่ได้จนเกินไป ทำให้ในที่สุดแล้วซ้ำซากน่าเบื่อ ไม่มีการพัฒนาการใหม่ๆอย่างเพลงสากล 

แต่หากมองอีกมุมว่า เรายังสามารถรักษารากเหง้าส่วนที่เป็นของแท้แต่โบราณไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบเต็มภาคภูมิ แต่สามารถคัดลอกเพื่อนำไปเรียบเรียงใหม่ในแบบสากลได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะแบบอิงเอกลักษณ์เดิมตามแนวทางของ "เพลงไทยประสานเสียง" และแนวทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเพลงไทยสากล เพลงคลาสสิค ฯลฯ ได้อีกมากมายแล้ว ก็น่าจะถือว่าเราประสบความสำเร็จทั้งในการอนุรักษ์ พร้อมๆไปกับการพัฒนาต่อยอดดนตรีไทยอยู่ไม่น้อยเหมือนกันนะครับ 

ในส่วนของการอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอด"เพลงไทยประสานเสียง" นี้ กรมศิลปากรเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ดังที่ผมได้เคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ในตอนที่แล้วครับว่า "เพลงไทยประสานเสียง" ที่วงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรนำมาแสดงในรายการ"สุขใจ" นั้น ไม่ได้มีเพียงทางบรรเลง แต่มีทางร้องตามแบบฉบับดั้งเดิมของเพลงไทยด้วย 

ผมพยายามค้นคว้าหาข้อมูล ว่าวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรมีการริเริ่มเพิ่มทางร้องเข้าไปตั้งแต่เมื่อใด ก็พบเพียงว่ามีการบันทึกเพลง เดือนค้างฟ้า  ลาวดวงเดือน และ ลาวเสี่ยงเทียน  แบบมีทางร้องไว้ ร่วมกับเพลงไทยอื่นๆ ในแผ่นเสียงของกรมศิลปากร เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2501 อันเป็นปีแรกที่กรมศิลปากรผลิตแผ่นเสียงเพลงไทยออกจำหน่าย

สมุดอธิบายเพลงแผ่นเสียงของกรมศิลปากร

การผลิตแผ่นเสียงเพลงไทยของกรมศิลปากรได้ดำเนินไปจนถึง ปี พ.ศ. 2514 โดยมี "เพลงไทยประสานเสียง" เพลงอื่นๆ บันทึกไว้อีกรวมแล้วไม่น่าจะถึง 20 เพลงครับ และส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพลงบรรเลงล้วนไม่มีทางขับร้อง (ยกเว้นบางเพลงที่ใช้สำหรับประกอบการแสดงระบำ เช่น ระบำชุมนุมเผ่าไทย  และ ระบำกฤดาภินิหาร)

จนกระทั้งถึงปี พ.ศ. 2515 ในรายการ "สุขใจ" นี้แหละครับ ที่วงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากร ในการอำนวยเพลงของ ครูชลหมู่ ชลานุเคราะห์ ได้เริ่ม "ปล่อยของ" ด้วยการนำ "เพลงไทยประสานเสียง" ที่มีทางร้องประกอบการบรรเลงอย่างครบถ้วน มาแสดงเป็นประจำทุกคืนวันเสาร์เดือนละครั้ง ให้รับชมรับฟังกันอย่างจุใจ นับรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50 เพลง 

บทเพลงเหล่านี้ ถูกขับร้องโดยศิลปินชั้นนำมากมาย ทั้งจากกองการสังคีตในเวลานั้น เช่น ครูนภา หวังในธรรม, ครูประเวช กุมุท, ครูแจ้ง คล้ายสีทอง, ครูสมชาย ทับพร ฯลฯ ไปจนถึงศิลปินนักร้องรับเชิญผู้มีชื่อเสียง เช่น นพ.สุพจน์ อ่างแก้ว, นพ.พูนพิศ อมาตยกุล, ครูสุรางค์ ดุริยพันธ์ุ, ครูนฤพนธ์ ดุริยพันธ์, ครูนันทวัน เมฆใหญ่ และ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

กับที่สำคัญอีกอย่างคือ เพลงไทยที่ถูกเลือกมาบรรเลงและขับร้องในรายการนี้ มีหลากหลายประเภทด้วยครับ ทั้ง เพลงเกร็ด เพลงละคร เพลงภาษา เพลงตับ เพลงประกอบการแสดงระบำ (ซึ่งมีการแสดงระบำให้ชมด้วย) 

แต่ที่ผมเห็นว่าน่าทึ่งที่สุด และเชื่อว่ามาจากความมุ่งมั่นของศิลปินทุกท่าน รวมไปถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายของกรมศิลปากร อีกทั้งผู้จัดรายการในเวลานั้น ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานระดับสุดยอด ก็คือ การบรรเลงและขับร้อง เพลงเถา ที่นอกจากจะมีความยาว จังหวะ และท่วงทำนองหลากหลายกว่าเพลงประเภทอื่นๆแล้ว จะต้องมีการบรรเลงลูกหมดก่อนจบเพลงด้วย

และยังมี เพลงลา ที่บางเพลงนอกจากจะต้องออกลูกหมดเมื่อตอนจบเพลงแล้ว ยังต้องมีเสียงปี่เป่าเลียนเสียงคำร้อง ในการว่าดอกด้วยทุกครั้ง

เรียกได้ว่า ครบถ้วนขบวนลีลาและลูกเล่นของเพลงไทยทุกอย่าง สมดังที่ผมเปรียบเปรยไปแล้วก่อนหน้านี้เลยครับว่า เป็นการนำศิลปวิทยาการดนตรีของทางตะวันตกและเครื่องดนตรีชั้นสูงของฝรั่ง มารับใช้เพลงไทยกันอย่างสุดๆ

รายการ "สุขใจ" ออกอากาศได้ประมาณสองปีกว่าก็ยุติลง จากนั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 - 2548 กรมศิลปากรได้นำ "เพลงไทยประสานเสียง" มาบรรเลงและบันทึกลงบนแผ่นซีดีสำหรับเผยแพร่อีกครั้ง ในอัลบัมชุด Portrait of Siam โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุด รวมทั้งหมดได้ประมาณ 37 เพลง 

อัลบัม Portrait of Siam ชุดที่ 3

ครั้งนั้น ผมดีใจและให้ความคาดหวังไว้กับอัลบัมชุด Portrait of Siam นี้มากครับ ว่าจะเป็นการนำ "เพลงไทยประสานเสียง" อย่างเต็มรูปแบบมีทั้งทางบรรเลงและขับร้อง ดังเช่นที่เคยได้ติดตามฟังในรายการ "สุขใจ" เมื่อครั้งกระโน้น มาให้รับฟังกันอย่างเต็มอิ่มอีกครั้ง 

แต่กลับปรากฏว่า ไม่พบเลยแม้แต่สักเพลงเดียว

เวลายิ่งผ่านไป ผมก็ยิ่งกังวลครับว่า "เพลงไทยประสานเสียง" อย่างเต็มรูปแบบ ที่ครูเพลงคนสำคัญหลายท่านของกรมศิลปากร เคยระดมสร้างสรรค์ผลงานไว้อย่างเยี่ยมยอดมากมาย จะสูญหายไปโดยไม่มีใครเก็บรักษา หรือผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันอีก

แถมยังคิดไปเองอีกด้วยครับว่า ผมอาจกลายเป็นผู้เดียวที่ยังเก็บรักษาเพลงที่ถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทยอีกชิ้นหนึ่งเหล่านี้ไว้ สามารถนำมาใช้อ้างอิงในเชิงศึกษาค้นคว้าได้ว่า "เพลงไทยประสานเสียง" นั้นมีพัฒนาไปถึงระดับใด เคยมีการบรรเลงขับร้องกันไว้มากมายหลายเพลงแค่ไหน

กับที่สำคัญสุดคือ เป็นการรำลึกถึงผลงาน และให้เกียรติกับครูและศิลปินเพลงที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์ผลงานที่ล้วนมีความประณีตงดงามและไพเราะเพราะพริ้งเหล่านี้ทุกท่าน

ผมจึงตัดสินใจริเริ่มโครงการ "สุขใจกับเพลงไทยประสานเสียง" นี้ขึ้นครับ ด้วยการแปลงเสียงจากเทปที่ใช้บันทึกการแสดงโดยวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรในรายการ "สุขใจ" เมื่อครั้งนั้น ให้เป็นสัญญาณเสียงแบบดิจิตอล จากนั้นก็ปรับแต่งคุณภาพเสียงให้ชัดเจนขึ้นเท่าที่จะทำได้ แล้วนำออกเผยแพร่ทางช่องยูทูปที่ผมสร้างบัญชีไว้

ในวันที่เขียนบทความนี้ สามารถเผยแพร่ไปได้ประมาณกว่า 20 เพลงแล้วครับ และยังมีอยู่ในคิวที่จะนำเสนออีกหลายเพลง

ถือเสียว่า เป็นความพยายามส่วนตัว ที่จะช่วยเติมอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป ให้กลับมาครบถ้วนตามที่ควรจะมีนะครับ

หลังจากได้บรรยายที่มาที่ไปเสียยืดยาว บัดนี้ถึงเวลาแล้ว จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วม "สุขใจกับเพลงไทยประสานเสียง" กับผมได้ ทางช่องยูทูปของผม ด้วยการคลิกที่นี่นะครับ 

ต้องขอออกตัวไว้สักนิดด้วยครับว่า อย่างไรเสียคุณภาพของเสียงก็มิอาจสมบูรณ์ดังเช่นมาตรฐานของยุคนี้ได้ ตามประสาของเก่าเก็บที่นำมาปัดฝุ่นทำใหม่ รวมถึงข้อจำกัดในการเลือกสรรอุปกรณ์และเทคโนโลยี เท่าที่กำลังทรัพย์ของนักเรียนมัธยมผู้ทำการบันทึกจะพอวิ่งหามาใช้งานได้ ในวัยและยุคสมัยนั้น

ทั้งนี้ ผมจะขอบรรยายรายละเอียดของกระบวนการบันทึกเสียงในครั้งนั้น และปัญหาอุปสรรคต่างๆให้ทราบกันในตอนต่อไปนะครับ

ม.ต่อศักดิ์
ตุลาคม 2563

(คลิกเพื่อติดตามตอนต่อไปได้ที่นี่)

(คลิกเพื่อติดตามความเดิมในตอนที่แล้วได้ที่นี่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น