หนังสือประเภทขุดคุ้ยประวัติศาสตร์และทฤษฎีแก้ มักได้รับความสนใจจากสื่อเสมอครับ
ล่าสุด สื่ออเมริกันกำลังพูดถึงหนังสือออกใหม่เมื่อต้นเดือนนี้ The Gunning of America เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยจากมหาวิทยาลัย Yale ชื่อ Pamela Haag
ผู้เขียนได้ขุดค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ และเอกสารเก่าของบริษัทผู้ผลิตอาวุธปืน นำมาศึกษาวิเคราะห์แล้วสรุปความเห็นว่า ที่เชื่อกันว่าสหรัฐอเมริกาและประชาชนมีความรักและผูกพันหวงแหนเหนียวแน่นอยู่กับปืนมาตั้งแต่สมัยต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพ ตามด้วยการสร้างชาติและบุกเบิกพิชิตตะวันตก เปรียบเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมสืบต่อกันมานั้น ไม่พบหลักฐานสนับสนุนใดๆว่าเป็นความจริง
ตรงกันข้าม ประชาชนของประเทศนี้ไม่เคยให้ความสำคัญใดๆเป็นพิเศษกับปืน หรือคิดว่าปืนมีความหมายในเชิงคุณค่า สัญญลักษณ์ เกียรติศักดิ์ศรี หรือสิทธิเสรีภาพ มากไปกว่าเครื่องมือเครื่องใช้ประจำวันอื่นๆที่ใช้ในการทำมาหากินและป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน
นั่นคือ ปืนก็มีความสำคัญเท่าๆกับถังตักน้ำ จอบเสียม มีดพร้า เครื่องทำครัว ฯลฯ ประมาณนั้นเอง
และกลายเป็นว่า บริษัทผู้ผลิตและค้าอาวุธปืนต่างหาก เป็นผู้สร้างสรรค์ความคิดเช่นนั้นขึ้นมาให้กับผู้คน โดยมีเหตุผลเพียงเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ
ผู้เขียนเล่าว่า หลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง การสั่งซื้อจำนวนมากๆจากรัฐบาลสหรัฐฯก็เริ่มหมดไป
รายได้ที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวินเชสเตอร์และโคลท์ ต้องหารายได้ทดแทนด้วยการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป ลาตินอเมริกา และดินแดนอาหรับ ซึ่งเวลานั้นยังมีศึกสงคราม หรือการปราบกบฏปราบโจรกันอยู่มาก (ความจริงก็มีเอเชียและบ้านเราด้วยนะครับ แต่คงไม่เยอะเท่าทางโน้น)
รายได้ทดแทนจากต่างประเทศนี้ รวมกันแล้วเป็นกอบเป็นกำดีกว่ารายได้ในประเทศ ที่เหลือเพียงลูกค้ารายย่อย อันได้แก่ชาวไร่ชาวสวน พราน นักบุกเบิก และพวกคาวบอยกับนายอำเภอในดินแดนตะวันตก
แต่พอถึงต้นศตวรรษที่ 20 ยอดขายต่างประเทศก็ลดลงมาก ส่วนตลาดในประเทศก็หดตัวลงไปอีก เนื่องจากสังคมและเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนจากชนบทที่ทำการเกษตร มาเป็นเมืองที่ทำการค้าและอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ผลิตและค้าอาวุธปืนต้องหาทางเพิ่มรายได้อีกครั้ง
เป้าหมายคราวนี้ เหลืออยู่เพียงตลาดผู้บริโภคภายในประเทศ วิธีการก็คือ ทำอย่างไรให้ผู้คนทั่วไปทุกฐานะ ทุกภาคส่วน และทุกเพศทุกวัย อยากมีปืนอยากซื้อปืนกันมากๆ
จึงเริ่มเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกระแส ปลูกฝังวาทกรรม และใช้เท็คนิคการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ไม่เพียงโน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อว่า ปืนเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย
พร้อมๆกันนี้ ก็เริ่มพัฒนาช่องทางการจำหน่าย และส่งเสริมกิจกรรมการขายทุกรูปแบบ จนทุกคนสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของปืนได้ไม่ยาก
ทุกอย่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พิสูจน์ได้จากจำนวนอาวุธปืนทั้งหมดตามครัวเรือนที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา ล่าสุดรวมกันแล้วกว่า 300 ล้านกระบอก
และเพื่อไม่ให้เป็นเรื่องธุรกิจการเมืองไปเสียทั้งหมด ผู้เขียนก็เพิ่มเรื่องไสยศาสตร์เข้าไป ด้วยการเล่าเรื่องสะใภ้ใหญ่ของผู้ก่อตั้งบริษัทปืนวินเชสเตอร์ ผู้มีชื่อเสียงว่ามีความเชื่อในเรื่องผีๆสางๆอย่างจริงๆจังๆ หลังจากแท้งลูกหลายครั้ง และสามีต้องถึงแก่กรรมไปก่อนวัยอันควร
ผู้เขียนบรรยายว่า เธอตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากคฤหาสน์หลังเดิมของครอบครัววินเชสเตอร์ ที่เมืองนิวฮาเว็นในรัฐคอนเน็กติกัตทางฝั่งตะวันออก ข้ามทวีปไปอยู่ฝั่งตะวันตก ที่เมืองซานโฮเซในรัฐแคลิฟอร์เนีย แล้วลงมือสร้างคฤหาสน์ของตัวเองขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1884 ด้วยเงินมรดกจำนวนมหาศาลที่ได้รับมาจากสามี
บ้านหลังใหม่นี้ ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยแบบแปลนทางสถาปัตยกรรมใดๆ ที่สำคัญกว่าคือ จะต้องต่อเติมสร้างห้องใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และต้องมีหน้าต่างและประตูหลอกๆจำนวนมากๆ กับมีบันไดที่ขึ้นไปแล้วสุดอยู่กลางทางไปไม่ถึงไหนด้วย
เหตุผลก็คือ เพื่อหลอกล่อบรรดาผีปีศาจทั้งหลาย ที่เธอเชื่อว่าเป็นวิญญาณของผู้ที่ถูกยิงตายด้วยปืนวินเชสเตอร์ และคอยติดตามหลอกหลอนเธออยู่ ให้สับสนจนไม่รู้ว่าคืนนี้เธอนอนอยู่ที่ห้องไหน
เมื่อเธอเสียชีวิตลงในอีก 38 ปี ต่อมา คฤหาสน์หลังนี้ก็มี 7 ชั้น 160 ห้อง มีประตูหน้าต่างกว่า 10,000 บาน
หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนเจ้าของ บ้านจึงถูกดัดแปลงไปบ้าง แต่ในที่สุดก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้รับการขนานนามว่า Winchester Mystery House
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวความยากลำบากของพ่อค้าปืน ในดินแดนที่ยังธุรกันดารและโจรผู้ร้ายชุกชุม ที่ต้องอาศัยความอดทนและไหวพริบของเซลส์แมนเป็นอย่างมาก มีเรื่องพิสดารขนาดว่า เซลส์แมนของวินเชสเตอร์สามารถปิดการขาย โดยสาธิตวิธีง่ายๆสำหรับการล้างผงทรายที่อุดตันอยู่ในลำกล้องปืน ด้วยการฉี่ลงไป..
ในภาพรวมแล้ว ผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านปืน หรือมองว่าปืนเป็นสาเหตุของความรุนแรง เพราะสถิติบอกว่า การปาดคอ แทงข้างหลัง วางยาพิษ ทุบด้วยฆ้อนหรือตีด้วยจอบเสียม ก็มีอยู่มากมายไม่แพ้กัน
แต่เห็นว่า ปืนไม่ควรมีสถานะพิเศษ ควรเป็นเสมือนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ที่ผู้ผลิตจะต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น จากการถูกนำไปใช้โดยผู้ที่ไม่สมควรจะมีปืน และต้องร่วมมือหาทางป้องกันไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าว
ก็นับว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจสำหรับชาวปืนเล่มนึงทีเดียวนะครับ
มิถุนายน 2559
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น