แฝดไรเฟิล ยังคงเป็นปืนในฝันของผมเสมอครับ (เดาว่าน่าจะเป็นของหลายๆท่านแถวนี้ด้วย)
พอดีได้อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้
ของ David Petzal จากสำนัก Field
& Stream ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว
เห็นว่าสนุกดีมีข้อคิดและเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ
(โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากท่านใดคิดจะลงทุนเป็นเจ้าของให้ได้สักคู่หนึ่ง)
เลยขออนุญาตนำมาลงไว้ที่นี่ด้วยนะครับ
ส่วนพากย์ไทยซับไตเติ้ลนั้น
ผมพยายามลองแปลให้ตรงความหมายที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ หากพบว่าผิดพลาดอย่างใด โปรดช่วยท้วงติงกันเช่นเคยนะครับ
-------------------------------------------------------------------------
ไรเฟิลสำหรับเกมส์อันตราย
– ประกันชีวิตไว้กับสองลำกล้อง
โดย เดวิด อี.
เพ็ทซาล 14 มิ.ย. 2559
ในบรรดาพรานอาชีพที่เคยเข้าป่าล่าสัตว์กับผมนั้น
บัซซ ชาร์ลตัน คือคนแรกที่ใช้แฝดไรเฟิล เป็นปืนยี่ห้อ Heym รุ่น 88 PH ซึ่งถูกออกแบบมาให้พรานอาชีพผู้เลือกใช้ไรเฟิลขนาดหนัก
สามารถนำไปใช้ได้อย่างจริงๆจังๆ โดยไม่ต้องเสริมแต่งความงามใดๆ
แฝด Heym
กระบอกของบัซซนี้ ใช้กระสุน .500
ไนโตรฯ ที่ถูกออกแบบมาตั้งแต่เมื่อปี
ค.ศ.1890 ให้ยิงลูกขนาด
.51 นิ้ว น้ำหนัก 570
เกรน ด้วยความเร็ว 2,150 ฟุตต่อวินาที
และถีบคนยิงอย่างหนักหน่วงด้วยแรงขนาด 85 ฟุต-ปอนด์
(หมายเหตุของผู้แปล
: ผมก็นึกไม่ออกครับว่าถีบแรงขนาดไหน แต่คงต้องมากกว่า .416 Rigby ของพี่จ่าน้อมฯ โขอยู่)
แต่ถึงจะถีบแรงขนาดนั้น
บัซซก็บอกว่าคุ้ม เพราะ .500 ใช้จัดการกับสัตว์ใหญ่ได้ผลชะงัดกว่ากระสุนในชั้น
.41 ทั้งหลายที่เล็กกว่า
ก่อนจะเป็นแฝดตัวนี้
บัซซเคยใช้เดี่ยวลูกเลื่อนขนาด .416 มาอย่างต่อเนื่องอยู่ถึง
20 ปี
ที่เปลี่ยนมาใช้แฝด ก็เพราะเริ่มรู้แจ้งว่า หากเกิดเหตุใดๆก็ตามที่ต้องใช้ปืน
ระยะยิงจะเหลือเพียงไม่เกิน 20 หลา
(บางครั้งก็ใกล้กว่ามาก) และจะมีเวลายิงได้เพียง 2 นัดเท่านั้น ไม่มีทางมากกว่านี้
ยิ่งไปกว่านั้น
หากจำเป็นต้องยิงนัดที่สอง ก็จะต้องยิงให้ทันอย่างรวดเร็วด้วย
ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี
คู่หูของบัซซชื่อ
ไมลส์ แม็คคอลลัม ฉายา “ขบวนมรณะ” ใช้เดี่ยวลูกเลื่อนยี่ห้อ Ruger รุ่น 77 Mark II RSM ขนาด .458 Lott เป็นปืนใช้แล้วที่ผลิตออกมาในช่วงปี ค.ศ. 1990-2010
ตัวปืนสวยงามมาก
ด้ามเป็นไม้วอลนัทเกรดดีจากอังกฤษ มีแกะลวดลายตกแต่งด้วยมือ
แต่ไกปืนนั้นหนักมาก
ประมาณ 15 ปอนด์
แถมมีระยะลากที่อธิบายความรู้สึกได้เพียงว่า อุบาทว์ หรือไม่ก็ชั่วร้ายมาก
ถึงกระนั้น
เจ้าของก็บอกว่าไม่เดือดร้อนอะไร เพราะเป็นคนชอบกระตุกไกยิงอยู่แล้ว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว
แฝดไรเฟิลจึงกลับมาเป็นที่นิยมกันอีก
และลูกค้าบางกลุ่มของบัซซก็ชอบขนปืนแพงๆมาโชว์กัน
ผมขออภัยที่จะต้องบอกตรงๆว่า
แฝดสวยๆแพงๆสำหรับเอาไว้โชว์พวกนี้ หลายกระบอกพอเหนี่ยวไกยิงแล้ว ปืนอาจลั่นตามกันออกไปเองทั้งสองนัดได้โดยไม่ตั้งใจ
แฝด Heym
ไม่มีปัญหานี้ มันหนัก 11 ปอนด์
ไกหน้ามีข้อต่อยึดด้วยสปริง ทำให้สามารถพลิกตัวไปข้างหน้าได้
(เป็นการป้องกันนิ้วชี้เวลาเหนี่ยวไกหลัง ไม่ให้โดนไกหน้าถอยมากระแทกเต็มๆ
ตอนปืนถีบ) มีตัวดีดปลอกสำหรับนัดที่ยิงแล้ว ลำกล้องยาว 24 นิ้ว ยอดศูนย์หน้าฝังตุ่มเล็ง ศูนย์หลังเป็นตัว V
เดินเส้นทองเป็นกรอบสามเหลี่ยมช่วยให้เล็งง่าย
บัซซซื้อปืนกระบอกนี้มาเมื่อหกปีก่อน
เป็นการสั่งทำที่ต้องใช้เวลารอถึง 3 ปี
และดูเหมือนว่า Heym จะหาไม้ชิ้นงามมาทำด้ามให้
เป็นการชดเชยกับที่ต้องรอกันนานมากอย่างน่าเกลียดขนาดนี้
พอได้ปืนมาเอาเข้าป่าเที่ยวแรก
ก็ลุยซะเต็มที่ จนรมดำจางไปเลยตอนกลับออกมา
ตัวปืนใช้ได้ถนัดมือดีมาก
แต่เอาไปเปรียบเทียบกับลูกซองไม่ได้ เพราะไม่มีลูกซองกระบอกไหนหนักถึง 11 ปอนด์
ถึงแม้จะหนักขนาดนี้
ผู้ยิงก็ยังสามารถยกปืนขึ้นจับเป้าได้อย่างรวดเร็ว และหากสายตายังดีอยู่
ก็สามารถยิงศูนย์เปิดได้อย่างสบายๆ
บัซซกับผมเห็นตรงกันว่า
.375 H&H ไม่เหมาะสำหรับการเผชิญหน้ากับสัตว์ใหญ่อันตราย
บัซซบอกว่า
“ตราบใดที่ทุกอย่างจบลงด้วยดีตามที่ตั้งใจไว้ ใช้แค่ .375 H&H ก็ดูเหมือนจะพอแล้ว
แต่หากมีอะไรผิดพลาดคาดไม่ถึงแม้เพียงนิดเดียวละก็
มีแค่นี้ไม่พอหรอกรับรองจบเห่แน่ พรานอาชีพคนไหนเลือก .375 เอาไว้สำหรับช่วยท่านในยามผิดพลาด ถือว่าพรานคนนั้นยังคิดได้ไม่ถี่ถ้วนรอบคอบ”
ใช้แฝดไรเฟิลแล้ว
ใช่ว่าจะสบายใจไร้กังวลไปเสียหมด ราคาปืนเก่าสภาพดีอยู่ที่ราว 15,000 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปืนใหม่ก็เริ่มต้นประมาณนี้
และแพง และแพง และแพง ขึ้นไปอีก
ลูกค้าคนหนึ่งของบัซซ
ซื้อแฝดตั้งราคาแพงของออสเตรีย โหลดขึ้นเครื่องกับสายการบินไปอาฟริกา
ขาลงปรากฏว่าปืนหายไปไหนไม่รู้ จนบัดนี้ก็ยังหาไม่พบ
อีกรายหนึ่งเอาปืนบรรจุใส่กล่องอย่างดี
ใส่ลงตู้ขนสินค้าที่สามารถติดไว้ใต้ท้องเครื่องบินเล็กแบบเครื่องยนต์เดียว
แล้วยังไงไม่รู้ระหว่างบินอยู่ ตู้สินค้าดันหลุดออกจากท้องเครื่องบิน
หล่นลงไปต่อหน้าต่อตาที่ความสูง 5,000 ฟิต
เหนือทะเลทรายสีแดงในซิมบับเว
แต่ปัญหาที่แท้จริง
คือความไม่น่าไว้วางใจของกลไก
บัซซบอกว่า
หากเกิดลั่นตามกันออกไปเองทั้งสองนัด นัดแรกอาจวิ่งเข้าเป้าได้ตรงตามที่เล็งไว้ แต่ความที่ลำกล้องดีดตัวยกขึ้นเร็วมาก
นัดที่วิ่งตามไปจะพลาดเป้าเสมอ
ทำให้ผลลัพธ์ในการยิงไม่ต่างอะไรไปจากการใช้ปืนบรรจุเดี่ยว
และที่ตามมาแน่ๆหากเกิดกรณีนี้ขึ้นคือ
แรงถีบ
เครก
บ็อดดิงตัน เคยเล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งใช้แฝด .600 ไนโตรฯ ปราบช้าง แล้วปืนดันเกิดลั่นตามกัน
ถึงแม้ตัวคนยิงจะยังยืนหยัดอยู่กับที่ได้
แต่แรงถีบก็ทำให้มึนงงจนนึกไม่ออกว่า ตัวเองเป็นใคร หรือพูดภาษาอะไร
หรือรู้ว่าควรจะทำอะไรต่อไป อยู่ราว 5 นาที
ก่อนสติสัมปชัญญะจะกลับคืนมา
โชคยังดีที่ช้างนั้นหมดฤทธิ์ไปแล้ว
ผมเอง ก็เคยโดน
.577 ลั่นตามกัน
มันให้ความรู้สึกเหมือนยันตัวเองอยู่กับ เจ. เจ. วัตต ในเกมส์(อเมริกัน)ฟุตบอล คือ
ยิ่งยันก็ยิ่งถอย และถอย และถอย
เรื่องปืนแฝดลั่นตามกันเองนี่
ไม่มีเรื่องไหนเด็ดไปกว่าของ โรเบิร์ต รวก ที่ปราบควายป่าอาฟริกาด้วยปืนแฝด .470
แล้วกระสุนดันวิ่งตามกันออกไปทั้งสองนัด
จากนั้นทั้งคนทั้งควายต่างล้มลงไปนอนแอ้งแม้ง
ทำให้ แฮรี เซลบี พรานอาชีพของรวกที่ไปด้วยกัน ต้องเข้ามาดูก่อนจะพูดขึ้นว่า..
“นี่แน่ะ ไม่ควายก็คุณ ควรจะลุกขึ้นมาได้แล้วนะ...”
พฤษภาคม 2560
(เครดิตภาพ : Guns International.com)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น