101 ปี 1911


ผมมาเริ่มเขียนบทความนี้ ในปีที่ 101 แล้ว ไม่ใช่เพราะรู้สึกช้าไปหน่อยหรอกนะครับ แต่ต้องปล่อยให้พี่ๆน้องๆ และเพื่อนๆ ที่เป็นนักเขียนเรื่องปืนโดยตรง ว่ากันไปก่อน ผมเองมาจากสายเรื่องราวคาวบอย ก็ต้องคอยสักนิดนึง

ตามที่ทราบกันดีนะครับว่า ปี ค.ศ. 2011 เป็นปีที่ปืนพกในรูปแบบที่เรียกกันว่า 1911 มีอายุครบ 100 ปี 


งานนี้ คอปืนทั้งหลายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งอันหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อาวุธปืนที่ต้องจารึกไว้ มีบทความที่ระลึกจากนักเขียนในค่ายปืนต่างๆ เขียนถึงกันมากมาย

นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิต 1911 รุ่นพิเศษ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ออกมาวางขายกันหลายรุ่น

เหตุที่ผมเริ่ม(อยากจะ)เข้ามาสู่วงการ 1911 กะเขามั่งเนี่ย ก็เพราะปีที่แล้ว ผมเตรียมปลดระวางเจ้า สมิธ แอนด์ เวสสัน โมเดล 27 ที่รับใช้ในภารกิจรักษาความปลอดภัยที่บ้าน ตั้งแต่รุ่นพ่อจนมาถึงมือผม บัดนี้รวมเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว 

ตัดสินใจว่าจะหา กล็อค 21 มาประจำการแทนเสียหน่อย

พอออกไปเดินหลังวัง ก็พบว่าหลายร้าน มีเจ้า เรมิงตัน 1911 R1 (ที่ลงทดสอบอยู่ใน Thailand Outdoor E-Magazine ฉบับปฐมฤกษ์ นั่นแหละครับ) วางโชว์อยู่ ราคาก็ไม่สูงนัก แพงกว่ากล๊อคนิดหน่อย


ในขณะที่พวก 1911 สายอเมริกาด้วยกัน อย่าง โคลท์ หรือ คิมเบอร์ ที่เป็นเจ้าตลาดในบ้านเรามานาน ราคาสูงกว่ามาก (ตอนนั้นรูเกอร์ SR1911 ยังไม่มีวางให้เห็นครับ)

ผมนึกไปมา ก็พอจำได้ว่า เรมิงตันเคยทำ M 1911 รุ่นแรก ออกมาในช่วงท้ายๆของสงครามโลกครั้งที่

และพอมาถึงรุ่นปรับปรุงเป็น M 1911 A1 ที่นำมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีบริษัทชื่อ เรมิงตัน แรนด์ (ซึ่งถึงแม้จะถือว่าเป็นคนละบริษัท แต่ก็มีเชื้อสายบรรพบุรุษเดียวกัน) มาผลิตกะเขาด้วยอีก 


เมื่อนับรวมๆกันแล้ว ดูเหมือนจะในปริมาณมากกว่าที่โคล์ทผลิตได้ในยุคเดียวกันเสียด้วย

แถมหน้าตาท่าทางของเจ้า 1911 R1 ที่มาวางขายอยู่นี้ ยังดูเป็นเดิมๆ ใกล้เคียงต้นฉบับสมัยสงคราม 

ผมก็เลยไปทำการบ้าน หาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในเว็บ และหนังสือต่างๆทั้งไทยและเทศ ผลที่ได้ก็คือ นอกจากเจ้า R1 จะตามเข้ามาอยู่ในบ้าน ให้ผมได้ร่วม(เสียตังค์)ฉลองร้อยปี 1911 กะเค้าบ้างแล้ว ยังมีหนังสือและนิตยสาร ที่มีบทความว่าด้วยเรื่องร้อยปี 1911 กองอยู่เต็มโต๊ะที่บ้านผมอีกเป็นสิบเล่ม

ยิ่งอ่าน ก็ยิ่งสนุกครับ โดยเฉพาะบททดสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ 1911 ยี่ห้อต่างๆมากมาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน


ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ไม่ค่อยเห็นพวกเซียนปืนฝั่งอเมริกา ยกย่องผู้ผลิต หรือเทใจให้กับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานี้เป็นพิเศษกันนัก 

ดูเขาค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับผู้ออกแบบมากกว่า และพากันยกย่องความเป็นอัจฉริยะของ จอห์น โมเสส บราวนิงก์  นักออกแบบผู้กลายเป็นตำนานไปแล้วนี้ กันอย่างถ้วนหน้า

พวกเขาเหล่านั้นกล่าวถึงโคลท์ ในแง่ที่ว่าเป็นผู้ผลิต 1911 รายแรก และยาวนานอย่างต่อเนื่อง 

แต่กลับตั้งข้อสังเกตว่า โคลท์ผลิต 1911 ออกมาอย่างมีคุณภาพสูง ได้เพียงในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คือรุ่น National Match ที่ออกวางตลาดตั้งแต่ปี ค.ศ.1933 ก่อนจะหยุดผลิตไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

National Match รุ่นที่ทำออกมาในช่วงนั้น ได้รับคำชื่นชมว่ามีดีทั้งความแม่นยำ ความประณีตสวยงาม ความทนทานและไว้ใจได้ จนโคลท์ต้องนำมาผลิตซ้ำอีกในปี ค.ศ.1957 

โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนหลักบางรายการ ที่กลับทำให้ความคงทนแข็งแรงลดน้อยด้อยลงกว่าเดิม ต้องตามแก้ไขทั้งตัวผลิตภัณฑ์และภาพพจน์กันอีกหลายปี 


จนสุดท้ายกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ มาเป็น Gold Cup Trophy ในปัจจุบัน (ที่ไม่ได้รับคำชื่นชมใดๆอีก)


ส่วนรุ่นอื่นๆของโคลท์ ที่ทำออกมาในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 70 และ 80 ก็ดูจะไม่ได้มีจุดเด่นดังใดๆให้เซียนปืนเหล่านี้ วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นพิเศษนัก 

ตรงกันข้าม พวกเขากลับกล่าวขวัญถึงช่างฝีมืออิสระ ผู้มีอาชีพปรับแต่ง 1911 และบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนทดแทน ที่ทยอยกันเปิดตัวขึ้นในช่วงเวลานั้น มากมายหลายค่ายหลายสำนัก ว่าเป็นผู้มีคุณูปการทำให้ 1911 ของโคล์ท ใช้งานได้ดีกว่าของเดิมๆจากโรงงาน

จนในที่สุด เมื่อผู้ผลิตอาวุธปืนรายอื่นๆ (รวมทั้งคู่ปรับเก่าในวงการลูกโม่ อย่าง สมิธ แอนด์ เวสสัน) เริ่มผลิต 1911 ออกมาขายแข่งกับโคลท์แล้ว โคลท์ก็แทบจะเรียกได้ว่า “ตกกระป๋อง” ไปเลย 

เริ่มด้วย สปริงฟิลด์ อาร์เมอรี ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษ ที่ 80 ตามด้วย คิมเบอร์ ในอีก 10 ปีต่อมา 

ทั้งสปริงฟิลด์ฯและคิมเบอร์ทุกวันนี้ ต่างขาย 1911 ของตนได้มากกว่าโคลท์ และผลัดกันเป็นผู้ครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาด 1911 มาตลอด

1911 ของคิมเบอร์ทุกรุ่น เป็นที่ยอมรับกันว่าเหนือกว่าโคล์ท ในเกือบทุกแง่มุม ไม่ว่าจะความประณีต ฟิตแน่น แม่นยำ แถมมีแต่งหน้าทาปากต่างๆกัน ให้ผู้ซื้อเลือกได้อีกตั้งห้าหกสิบแบบ ตามแต่รสนิยม 

กับที่น่าสนใจอีกอย่างคือ หน่วยงานรักษากฎหมายดังๆ (ในสหรัฐอเมริกา) บางแห่ง ต่างเลือก 1911 ของคิมเบอร์เข้าประจำการกัน



แต่คิมเบอร์ ก็ยังถือว่าเป็น 1911 ระดับตลาดกลางๆเท่านั้นครับ เหนือกว่านี้ ยังมีระดับที่เรียกกันว่า เซมิ-คัสตอม 

กล่าวคือ ผู้ผลิตจะคัดสรร หรือผลิตชิ้นส่วนทุกชิ้นขึ้นเองเป็นพิเศษ ใช้เครื่องจักรในการผลิตที่มีความละเอียดสูง ตามด้วยฝีมือแรงงานของช่างผู้มีประสบการณ์ ขัดแต่งเพิ่มเติมอย่างประณีต ก่อนประกอบชิ้นส่วนต่างๆเข้าด้วยกันด้วยมือล้วนๆ ออกมาเป็นรุ่นราคามาตรฐาน 

แล้วเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถ (เสียเงินเพิ่ม) สั่งปรับแต่งกลไก หรือจำหลักลวดลายพิเศษตามความต้องการได้อีก

ผมเห็น 1911 ที่เป็น เซมิ-คัสตอม นี้ มีวางขายอยู่หลังวังไม่น้อย ยี่ห้อที่เห็นบ่อยก็มี เลส เบเออร์ แล้วก็มี ไนท์ฮอว์ค คัสตอม มี เอ็ด บราวน์ แล้วก็มี วิลสัน คอมแบ็ท (ทราบมาว่ารายหลังสุดนี่แพงกว่าเพื่อน)


ในเชิงเปรียบเทียบ เลส เบเออร์ ได้รับคำวิจารณ์ว่า เป็น 1911 ที่ฟิตแน่นที่สุด จนทำให้ขึ้นลำหรือถอดประกอบได้ยากมากๆ 

ส่วน เอ็ด บราวน์ จะมีรูปลักษณ์แบบคลาสสิคเดิมๆมากที่สุด และผลิตชิ้นส่วนขึ้นใช้เองแทบทุกชิ้น อีกทั้งไม่ว่ารุ่นถูกสุดหรือแพงสุด ก็เป็นงานฝีมือเดียวกันหมด แพงกว่ากันที่ลวดลายหรือชิ้นส่วนเพิ่มเติมเท่านั้น 

ไม่เหมือน วิลสัน คอมแบ็ท ที่ในแต่ละระดับราคา อาจใช้ช่างฝีมือระดับต่างกัน 


ส่วน ไนท์ฮอว์คฯ คือช่างฝีมือของ วิลสันฯ กลุ่มหนึ่ง แยกตัวออกมาเปิดใหม่

ทั้งสี่ยี่ห้อนี้ ว่ากันว่า ความเนี้ยบ เนียน แน่น และนุ่มนวล ล้วนอยู่ในระดับสุดๆ กินกันแทบไม่ลง (ยกเว้น เลส เบเออร์ ที่ส่วนใหญ่บอกว่า แน่นสุดๆกว่าเพื่อน แต่ยังเนี้ยบไม่สุดนัก) 

ด้านความแม่นยำและกลุ่มกระสุนนั้น ทุกยี่ห้อต่างรีดออกมาได้แคบ จนแทบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้ยิงจริงๆ

อันที่จริง ทั้งคิมเบอร์และสปริงฟิลด์ฯ ต่างก็มี 1911 รุ่นแต่งพิเศษเต็มที่ สามารถเทียบชั้นคุณภาพใกล้เคียงกับพวก เซมิ-คัสตอม นี้ด้วยเหมือนกันครับ แต่ในบ้านเราดูจะไม่ค่อยฮิตนัก อาจเป็นเพราะยังมีภาพลักษณ์ของ 1911 ระดับตลาดทั่วไปติดตัวอยู่ก็ได้

เหนือ เซมิ-คัสตอม ยังมี ฟูล-คัสตอม อีกนะครับ คือ ลูกค้าสามารถสั่งให้ช่างทำตามแบบของตัวเอง ได้ทุกรายละเอียดที่ต้องการ 

อันนี้ดูเหมือนบ้านเราจะหาดูได้ยากหน่อย แต่ได้ยินว่าบางร้านก็บริการช่วยสั่งเป็นพิเศษ ให้กับลูกค้าที่ทั้งใจและเงินถึงเหมือนกัน

ดูเหมือนเวลานี้ เอส วี อินฟินิตี จะเป็นตัวยืน แต่ก่อนหน้านี้ เคยมียี่ห้ออื่นๆอีกบ้างเหมือนกัน น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่เลิกผลิตไปแล้ว

ในทางกลับกัน ก็มี 1911 ระดับพื้นๆราคาย่อมเยา ไม่ว่าจะเป็นบางรุ่นของสปริงฟิลด์ฯ และยี่ห้ออื่นๆอีกมากมาย



ในบรรดา 1911 ราคาประหยัด ที่มีชื่อแซ่ฟังดูเป็นอเมริกันนั้น บางยี่ห้อก็ผลิตในอเมริกาทุกชิ้นส่วน บางยี่ห้อใช้วิธีนำเข้าบางชิ้นส่วนจากต่างประเทศ (เช่น บราซิล และฟิลิปปินส์) แล้วมาประกอบเข้าด้วยกันในอเมริกา 

บางยี่ห้อก็นำเข้าทั้งกระบอก (ก็จาก บราซิล และ ฟิลิปปินส์ อีกนั่นแหละครับ) มาวางขายในอเมริกา ใช้ชื่อของตนเอาดื้อๆเลย


1911 กลุ่มนี้ หากว่ากันในเชิงคุณภาพแล้ว ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ หรือถือเป็นของเกรดต่ำชำรุดง่ายแต่อย่างใด 

จริงๆแล้ว บางรุ่นอาจคุ้มค่ากว่าของแพงๆด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่ก็ผลิตตามมาตรฐานของกองทัพ (มักใช้คำว่า Mil Spec หมายถึง Military Specifications หรือไม่ก็ G.I.  อันหมายถึง Government Issue) คือ ไม่เน้นเรื่องความแน่น เนียน เนี้ยบ แต่เน้นเรื่องความแข็งแรงทนทาน ไว้วางใจได้ มีความแม่นยำในระดับเป็นที่ยอมรับได้ 

หากใช้งานเชิงต่อสู้เป็นหลัก น่าจะถือได้ว่า เป็น 1911 ที่รักษาคุณค่าของรูปแบบ และวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของ 1911 ตามเจตนารมณ์ของผู้ที่ออกแบบไว้แต่แรกจริงๆ


เจ้าเรมิงตัน 1911 R1 ของผม ก็ต้องถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มนี้แหละครับ เวลานี้มีคู่แข่งตามมาติดๆ คือ รูเกอร์ SR1911 ที่ราคาไล่เลี่ยกัน แต่ตกแต่งทันสมัยใช้งานได้หลากหลายกว่า ทำให้รูปลักษณ์ขาดความเป็นเดิมๆไปหน่อย 


อันนี้ก็แล้วแต่ใครชอบแบบไหนนะครับ นอกนั้นยังมี ทอรัส จากบราซิล มียี่ห้ออื่นๆ จากฟิลิปปินส์ จากตุรกี เข้ามาขายด้วย แม้แต่ นอริงโก ของจีน ก็ได้ยินว่าเคยมีเข้ามา

ส่วนโคลท์เจ้าเก่า เวลานี้ผมเห็นมี Gold Cup Trophy รุ่นใหม่ๆ วางขายอยู่มากที่สุด 

กับรุ่น Combat Elite (ที่ทางเท็คนิคจริงๆแล้วคือ Gold Cup เปลี่ยนใส่ศูนย์ตายแทนศูนย์ปรับได้) 



มีรุ่น XSE ที่ปรับแต่งและอัปเกรดหน้าตาให้ดูทันสมัยขึ้น (คงกะเอาไว้แข่งกับพวกยี่ห้อใหม่ๆ) 



นอกนั้นก็เป็นพวกทำย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็นรุ่นแรกเริ่ม คือ M 1911 (ที่เข้าประจำการในกองทัพสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1911) หรือรุ่นต่อมา M 1911 A1 (ปรับปรุงจาก M 1911 ให้ดีขึ้น ตามคำแนะนำจากประสบการณ์ใช้งานจริงของเหล่าทหารหาญ ที่เคยผ่านการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1) 

รวมทั้งรุ่น Government (ปรับแต่งหน้าตา M 1911 A1 ให้ดูเป็นพลเรือน) Series 70 และ 80  

พวกกลุ่มย้อนยุคนี้ บางชุดก็ตกแต่งมาพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบเหตุการณ์สำคัญ หรือเป็นเกียรติแก่บุคคลสำคัญด้วย




พูดถึงโคลท์ กับ 1911 แล้ว ผมค่อนข้างแปลกใจ เมื่อเห็นโฆษณาของโคลท์ในหนังสือปืนต่างๆ อวดอ้างว่า 1911 ที่ตนผลิตคือของจริงของแท้ 

เป็นมาตรฐาน ที่คนอื่นๆทำได้แค่สำเนา หรือลอกเลียนแบบ แต่ไม่สามารถที่จะ “ทำซ้ำ” ออกมาได้ 


ในขณะที่บทความของเซียนปืนต่างๆ กลับไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

หากดูกันตามข้อเท็จจริงแล้ว ต้องถือว่า โคลท์ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ 1911 ขึ้นด้วยตนเอง แต่ว่าจ้างผู้อื่น (คือ จอห์น โมเสส บราวนิงก์ ผู้เป็นตำนาน 1911 จริงๆ) มาออกแบบให้อีกทีนึง 

ไม่เหมือนกับโคลท์ ซิงเกิล แอ๊คชั่น อาร์มี อีกหนึ่งปืนดังจากอดีต ที่ทีมวิศวกรของโคล์ทเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด โดยไม่ต้องพึ่งพาบุคคลภายนอก 

แบบของ 1911ที่ออกมาจากมันสมองของบราวนิงก์นี้ ในเบื้องต้นเป็นของโคลท์ก็จริง แต่เมื่อเกิดมหาสงครามทั้งสองครั้ง กองทัพสหรัฐฯ ก็ไปติดต่อขอแรงผู้อื่น มาช่วยผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของกองทัพ 

แถมในบรรดาผู้ที่กองทัพคัดเลือกมาให้ช่วยกันผลิตนี้ หลายบริษัทไม่เคยผลิตอาวุธมาก่อน บางบริษัทเคยผลิตแต่จักรเย็บผ้า บางบริษัทเคยผลิตแต่เครื่องพิมพ์ดีด บางบริษัทก็เคยผลิตแต่เครื่องสัญญาณเดินรถไฟ 

แต่บริษัทเหล่านี้ ต่างสามารถแกะแบบ ทำ 1911 ออกมาได้ในคุณภาพทัดเทียมกันกับโคลท์ หลายยี่ห้อกลายเป็นของสะสมหายาก มีมูลค่าสูงกว่าโคลท์เสียอีก  

จึงน่าจะสรุปได้ว่า 1911 ของโคลท์ เป็นเพียง “สำเนา(โหลๆ)ชุดแรก” ตามแบบของ จอห์น โมเสส บราวนิงก์ เท่านั้นเองนะครับ 

ส่วนยี่ห้ออื่นๆที่ตามมา ก็นับว่าเป็นสำเนาชุดที่ สอง สาม สี่ ฯลฯ ต่อไปตามลำดับ 

และยิ่งนานวันขึ้นเท่าใด พวกสำเนารุ่นใหม่ๆ ต่างก็ทำผลงานออกมาได้ คม ชัด ละเอียด และสวยยิ่งขึ้นกว่าเดิม 

อุปมาดั่งสำเนาของโคลท์นั้นเป็นโรเนียว แต่ของคนอื่นๆ เขาเป็นซีร็อกซ์ ไปจนถึงเลเซอร์ปริ๊นท์กันหมดแล้ว (เปรียบเปรยแบบนี้เว่อร์ไปหน่อยหรือเปล่าครับเนี่ย..)

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้นิยมชมชอบ1911 ของโคลท์ เพราะความขลังของชื่อชั้นกันเป็นจำนวนมาก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา ทราบมาว่า 1911 ของโคลท์ ราคาดีไม่มีตก ไม่ว่าของใหม่หรือของเก่า 

เชื่อว่า ยังมีหลายท่านยืนหยัดอย่างเหนียวแน่นว่า 1911 ต้องโคลท์เท่านั้น 

สำหรับผมเองก็คงอดไม่ได้ ที่จะเมียงมอง หาทางเป็นเจ้าของกะเค้าสักกระบอกหนึ่งบ้างเหมือนกันครับ หากมีโอกาส

ในปัจจุบัน มีผู้ผลิต 1911 เฉพาะในสหรัฐฯเอง ทั้งรายใหญ่รายย่อย ทั้งเกรดถูกสุดไล่ไปจนถึงแพงสุด รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ยี่ห้อ และดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ส่วนในต่างประเทศนั้น เคยมีการผลิตในนอรเวย์ อาร์เจนตินา และอีกหลายประเทศมาแล้วตั้งแต่รุ่นแรกๆ แม้แต่ในเมืองไทยเองก็เคยมี (ดังที่คุณจ่าน้อม ทหารหน้า เคยเขียนบทความไว้

มาถึงวันนี้ 1911 อาจเลิกผลิตไปแล้วบ้างในบางประเทศ แต่ก็ไปเริ่มผลิตใหม่อยู่ในประเทศอื่นๆ อีกเรื่อยๆ เหมือนกัน

เราจึงเริ่มได้ยินสำนวนว่า “1911 never dies” กันหนาหูขึ้น อีกหน่อยอาจไปถึงขั้น “พระอาทิตย์ไม่เคยตก ในอาณาจักร 1911” ก็ได้นะครับ 

ส่วนตัวผมนั้น อ่านหนังสือไปเขียนบทความไป ก็ยิ่งเกิดอารมณ์ จึงต้องขอจบลงเพียงแค่นี้ก่อน


ขอเวลาไปเมียงมองส่องหา 1911 สวยๆถูกใจอีกสักกระบอกนึง ให้หายอยากหน่อยนะครับ

มาร์แชลต่อศักดิ์
กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น