บันทึกการสำรวจเส้นทาง บนแผ่นดินลาวตอนเหนือ พ.ศ.2550 (ตอนที่ 1/3)


บันทึกการเดินทางสำรวจเส้นทาง เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ผ่าน 7 แขวงแห่งขุนเขา ในภาคเหนือตอนบนของประเทศลาว อันได้แก่ เชียงขวาง หัวพัน หลวงพระบาง อุดมไชย พงสาลี หลวงน้ำทา และบ่อแก้ว

แถมพกด้วยการเดินทางข้ามชายแดนจากแขวงพงสาลี เข้าไปจนถึงเมืองเดียนเบียนฟู ในประเทศเวียดนาม และการข้ามชายแดนที่แขวงหลวงน้ำทา เข้าไปยืนด้อมๆมองๆดูแผ่นดินจีนยูนนานอีกหน่อยหนึ่ง

โดย ม.ต่อศักดิ์ และสหาย

1. ความเดิม

หลังจากคณะเดินทางชุด “ทางเคี้ยวคด เลี้ยวลดไปโพนสะวัน” ได้กลับมาฝอยเรื่องการผจญภัย จนผู้ฟังน้ำลายหกเกือบท่วมสนามธนูไปเมื่อคราวก่อน ตามความปรากฏชัดอยู่ในบันทึกของตาเกิ้นแล้วนั้น

คณะผู้ก่อการ (อยู่ไม่สุข) ทั้งหลาย ก็เริ่มชุมนุมคิดการใหญ่ว่า จะต้องกลับไปสำรวจเมืองลาวต่อ ให้ได้ไกลกว่านั้นอีกให้จงได้

ทั้งนี้ เปรียบเทียบได้กับการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ ของโครงการอะพอลโลในปลายยุค 60 ที่เริ่มต้นเพียงแค่การไปบินวนรอบๆดวงจันทร์ก่อน

เมื่อสามารถกลับมาบ้านได้อย่างปลอดภัยแล้ว ก็มั่นใจว่า ครั้งต่อไปจะสามารถไปลงจอดบนดวงจันทร์ เพื่อเดินเล่น กระโดดโลดเต้น ตีกอล์ฟ ขับรถเล่น ฯลฯ อีกหลายๆหนได้ไม่ยาก

คุณจ่าน้อม จึงตั้งตัวเป็นหัวโจก โดยมีวาระซ่อนเร้น จะไปเก็บข้อมูลมาเขียนนิยายของตัวเอง ที่พี่น้องหลายคนในเว็บนี้ติดงอมแงม 

และมีท่านท้าวไกรสร ผู้ลุ่มหลงและหลงไหลการขับรถไปในที่ๆยังไม่เคยไป ให้การสนับสนุนเต็มที่ ส่วนจะมีวาระซ่อนเร้นด้วยหรือไม่นั้น จำไม่ได้เพราะนับไม่ถ้วน

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นอะไรกับเขา เพียงแค่ครั้งก่อนมีอันต้องพลาดไม่ได้ไปด้วย หนนี้จึงตั้งใจแน่วแน่ว่า จะพลาดเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้ไม่ได้อีกเป็นอันขาด

และยังมีพี่น้องชาว TOD อีกหลายท่าน มีท่าทีสนใจอยากร่วมเดินทางไปด้วย แต่ครั้นพอถึงเวลาจริง เกิดติดภารกิจไปไม่ได้กันเสียมาก เป็นที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาเดินทางตามที่กำหนดไว้แน่นอนแล้ว จึงเหลือผู้ร่วมเดินทางหลัก เป็นแกนนำกันอยู่เพียงแค่นี้เอง

2  ออกเดินทาง

คณะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เมื่อเวลาสี่โมงเย็นของวันอังคารที่ 4 ธันวาคม 2550 ด้วยพาหนะโตโยต้ากระบะไทเกอร์ 4x4 สองคัน พร้อมสัมภาระ เครื่องนำทาง แผนที่ อุปกรณ์สื่อสาร อาหารแห้งและเครื่องยังชีพที่จำเป็น สำหรับ 1 สัปดาห์


แถมด้วย หนังสือนำเที่ยวแบบแบกเป้ของฝรั่งอีกสองเล่ม ตระกูล “ดวงดาวอันเปล่าเปลี่ยว” เล่มหนึ่ง และตระกูล “คำแนะนำอย่างคร่าวๆ” อีกเล่มหนึ่ง เพื่อให้ได้มุมมองและความเห็นที่หลากหลาย

และยังได้รับความอนุเคราะห์จากแฟนคลับ ผู้สนับสนุนด้านกำลังใจอีกท่านหนึ่ง จัดข้าวเหนียวกระติ๊บใหญ่ พร้อมเนื้อเค็มอีกห่อหนึ่ง เผื่อไว้เป็นเสบียงกลางทางแทนข้าวลิง

รถไทเกอร์คันแรกเป็นรถนำ มีท่านท้าวไกรสรรับหน้าที่เป็นกัปตัน โดยข้าพเจ้าทำหน้าที่เป็นต้นหน พลสื่อสาร และพลขับสำรอง ส่วนคันที่สองเป็นรถสำรอง มีคุณจ่าน้อมรับหน้าที่เป็นทั้งเกียกกายและพลขับ

กำหนดการสำหรับวันนี้ มีเพียงสั้นๆ คือ วิ่งยาวๆ ไปจอดกินข้าวเย็นที่ขอนแก่นประมาณสามทุ่ม แล้ววิ่งต่อไปถึงหนองคายตอนห้าทุ่ม เพื่อหาที่นอน และเตรียมข้ามโขงไปเวียงจันทน์ในวันรุ่งขึ้น

3. สบายดีปะเทดลาว

วันพุธที่ 5 ธันวาคม 2550 คณะเดินทางไปถึงด่านหนองคายแต่เช้าตรู่ ผู้คนยังไม่มากนัก สามารถแจ้งออกได้ตั้งแต่เวลาเจ็ดโมงครึ่ง

จากนั้นจึงนำรถทั้งสองคันข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เข้าสู่ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” หรือ สปป ลาว โดยไม่รอช้า




ที่ด่าน ตม. มิตรภาพฝั่งลาว เราใช้เวลากรอกเอกสารทำเรื่องเข้าตรวจคนเข้าเมือง แจ้งด่าน “พาสี” ศุลกากร และทำประกันภัยรถที่สำนักงาน “บลิสัด ปะกันไพ แห่งปะเทดลาว” ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันทั้งหมด  

รวมแล้วประมาณชั่วโมงครึ่ง ทุกอย่างก็เสร็จเรียบร้อย




ที่บริเวณด่าน มีแม่หญิงเจ้าหน้าที่ ตม. นางหนึ่ง ทำหน้าที่ “กวดกาควมเฮียบฮ้อย” ของผู้คนและการจราจร ได้ยินเสียงร้อง “เอ้ย! เอ้ย!” ดังเป็นระยะๆ พร้อมชี้มือชี้ไม้ประกอบ


คณะเดินทางจึงเข้าไปติดต่อขอคำแนะด้วยนำ ว่าต้องขยับรถย้ายรถไปยังที่ไหนอย่างไรบ้าง ก็ได้รับการชี้แนะจากแม่หญิงผู้เคร่งครัดต่อหน้าที่เป็นอย่างดี

หลังจากนั้นแม่หญิงเจ้าหน้าที่ก็เดินตระเวณไป “เอ้ย!  เอ้ย!” กับคนอื่นต่อ จนกระทั่งเราทำเรื่องพิธีการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย สามารถออกเดินทางต่อไปเมื่อประมาณเกือบเก้าโมง

จึงได้จากกันอย่างมิตรภาพ และถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการเดินทางในต่างแดนครั้งนี้


4. เวียงจันทน์

คณะเดินทางมาถึงใจกลางเมืองเวียงจันทน์ บนถนนล้านช้าง หน้าประตูไชย เมื่อเวลาเก้าโมงครึ่ง แล้วแวะเข้าไหว้พระที่วัดพระธาตุหลวง เพื่อเป็นศิริมงคล





อากาศยามสายในวันนี้ดียิ่งนัก ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 19 องศาเซลเซียส สามารถเดินเที่ยวและถ่ายภาพสถานที่ได้ทั่วบริเวณ

บรรยากาศโดยทั่วไปเงียบสงบ นักท่องเที่ยวยังมาถึงไม่มาก ผู้คนท้องถิ่นก็ยังน้อย


ได้รับทราบว่า ทางวัดเพิ่งจะทำการบูรณะสิ่งปลูกสร้างต่างๆเสร็จไปเมื่อไม่นาน ทุกอย่างจึงดูสดใสใหม่เอี่ยมไปหมด โดยเฉพาะเจดีย์ใหญ่ ทาสีทองสุกอร่าม ขึ้นกล้องเป็นอันมาก



เสร็จแล้ว คณะเดินทางออกมาปรึกษากันที่ลานจอดรถ ซึ่งกว้างใหญ่อย่างกับสนามหลวง ว่าเราจะไม่ใช้เวลาอยู่ที่เวียงจันท์นี้นานนัก ถึงแม้จะมีสถานที่สำคัญที่อยากดูอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ และวัดวาอารามอื่นๆ

ตัวข้าพเจ้าเอง ด้วยการสนับสนุนของคุณจ่าน้อม ใคร่อยากจะได้เห็นรูปปั้นของ ม.ปาวี กับชาวพื้นเมือง ที่มีเรื่องเล่ากันว่า คณะกู้ชาติได้ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นรูป ม.ปาวี ออก นำไปโยนทิ้งแม่น้ำโขงเสียครั้งหนึ่ง

แต่หลังจากนั้น พวกฝรั่งก็ไปงมเอากลับขึ้นมา แล้วขนไปวางไว้ในเขตสถานทูตของตน

ส่วนรูปที่ปั้นเป็นชาวพื้นเมือง ยังคงวางอยู่ข้างหอพระแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสถานทูตแห่งนั้น บนถนนเสดถาทิลาด นั่นเอง

แต่เนื่องจากหนทางยังอีกยาวไกลมาก และเวียงจันทน์ก็อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก วันหลังอยากจะมาอีกเมื่อไรก็ได้

สมาชิกคณะเดินทางทุกท่านจึงเห็นลงมติพ้องต้องกันว่า ควรใช้เวลาในการสำรวจดินแดนไกลโพ้นให้เต็มที่เสียก่อน ให้สมดังที่ตั้งใจไว้

เราจึงเคลื่อนรถออกจากเวียงจันทน์ หลังจากจอดรถแวะรับประทานเฝอ ที่ร้านข้างๆถนนสายออกนอกเมือง เป็นอาหารเช้าและอาหารมื้อแรกในลาว และออกพ้นเขต ”กำแพงนะคอนเวียงจัน” ไปเมื่อเวลาสิบเอ็ดโมงกว่าๆ

ในการรับประทานเฝอลาว ไม่ว่าจะที่ร้านนี้ หรือร้านอื่นๆที่จะได้แวะรับประทานอีกในครั้งต่อๆไปนั้น นอกจากจะมีเครื่องเคียงเป็นผักต่างๆ และมะนาวสำหรับปรุงรส ไม่ต่างจากการรับประทานเฝอญวนแล้ว 

จะต้องมีชุดเครื่องปรุงมาตรฐาน อันประกอบด้วย น้ำปลา พริกตำดอง กะปิ และพริกไทย ใกล้เคียงกับร้านก๋วยเตี๋ยวในบ้านเรา

จะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ตรงที่เขาไม่มีน้ำตาลให้เติม แต่มีผงชูรสให้แทน เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมดทุกร้านทุกที่ที่เห็น




ร้านนี้มีเสน่ห์ให้ประทับใจอีกเล็กน้อย คือ เจ้าของร้านแถมกล้วยน้ำว้าเป็นของหวาน ให้ลูกค้ารับประทานอย่างเต็มที่ สามารถกินฟรีสักกี่ลูกก็ได้ไม่มีจำกัดจำนวน

5. ทางหลวงหมายเลข 13

ท.13 เป็นทางหลวงสายหลักในแนวเหนือใต้ เปรียบเหมือนเป็นกระดูกสันหลังของเครือข่ายทางหลวงของลาว 

มีจุดเรื่มต้นจากชายแดนจีนที่เมืองบ่อเต่น แขวงหลวงน้ำทา ไปจบที่เมืองวึนคำ แขวงจำปาสัก ชายแดนกัมพูชา ไม่ไกลจากน้ำตกคอนพะเพ็งเท่าใดนัก

เส้นทางนี้พาดผ่านเมืองหลวงเวียงจันทน์ และหัวเมืองสำคัญอีกหลายเมือง เช่น อุดมไชย หลวงพระบาง ปากซัน ท่าแขก ปากเซ


จากเวียงจันทน์ คณะเดินทางใช้เส้นทาง ท.13 ผ่านเมืองวังเวียง อันเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ตามด้วยเมืองกาสี มุ่งสู่เมืองพูคูน หรือ ภูคูน หรือเป็นที่รู้จักในนามอื่นๆอีกว่าสามแยก และศาลาพูคูน

ท.13 ในช่วงนี้ เมื่อออกนอกเขตเมืองเวียงจันทน์แล้ว ถนนจะเล็กลงเหลือสองช่องทาง และลาดยางแบบหยาบ

แต่สภาพทั่วไปนับว่าดี ไม่มีหลุมบ่อหรือชำรุด สามารถใช้ความเร็วสูงสุดตามกฎหมายได้อย่างปลอดภัย




เราแวะเติมน้ำมัน และผ่านวังเวียงไปเมื่อเวลาบ่ายสองโมง เส้นทางเริ่มขึ้นเขาสูงและคดเคี้ยวมากขึ้น แต่ทิวทัศน์ข้างทางสวยมาก มีภูเขาหินปูนสวยๆ รูปร่างแปลกๆอย่างที่ไม่ค่อยเคยเห็นในเมืองไทยหลายลูก และเทือกเขาทั้งหมดยังมีต้นไม้ขึ้นเขียวบริบูรณ์ ถึงแม้จะเป็นหน้าแล้ง







ระหว่างทางตอนบ่ายสามโมง เราได้อาศัยศาลาข้างทางแห่งหนึ่งจอดรถพักชมวิว และเติมพลังด้วยข้าวเหนียวเนื้อที่เตรียมเป็นเสบียงสำรองไว้




เมื่อเดินทางต่อไปจนได้ร่วม 270 กิโลเมตร ตั้งแต่ออกจากเวียงจันทร์ คณะเดินทางก็มาถึงพูคูนเมื่อเวลาประมาณ 4 โมงครึ่ง

ได้จอดพักรถเพื่อทำธุระส่วนตัว ยืดเส้นยืดสายและซื้อเสบียงที่จำเป็นเพิ่มเติม


เมืองนี้ตั้งอยู่บนชุมทางสามแยก ที่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,300 เมตร และเกือบจะตรงจุดที่เขตแดนของ 3 แขวงอันยิ่งใหญ่ของประเทศลาว คือ เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และเชียงขวาง มาบรรจบกัน

จึงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ 4 CORNERS ในสหรัฐอเมริกา เป็นอย่างยิ่ง



จากที่นี่ หากเลี้ยวซ้าย ก็จะคงเส้นทาง ท.13 เช่นเดิมไปยังเมืองหลวงพระบาง

หากเลี้ยวขวา ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของ ท.7 อันคดเคี้ยวและทอดยาวตลอดแขวงเชียงขวางไปจนถึงชายแดนเวียดนาม ผ่านเมืองโพนสวรรค์ หรือโพนสะวัน

6. ทางหลวงหมายเลข 7

ท.7 เป็นถนนที่ถูกสร้างขึ้นไว้ตั้งแต่ยุคอาณานิคม แล้วกลายเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งเส้นหนึ่ง ในยุคสงครามปฏิวัติของลาวเมื่อสามสี่สิบปีก่อน ในฐานะเส้นทางส่งกำลังบำรุงสำคัญจากเวียดนาม และมีการรบดุเดือดในเมืองต่างๆตลอดเส้นทาง รวมทั้งที่ศาลาพูคูนนี้ด้วย

มาถึงวันนี้ ทุกอย่างสงบลง ชาวบ้านทำมาหากินเป็นปกติ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมา”เยี่ยมยาม”มากขึ้น

ส่วนใหญ่มีจุดหมายหลักอยู่ที่ทุ่งไหหิน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองโพนสะวัน

คณะเดินทางตัดสินใจว่า จะเดินทางไปให้ถึงเมืองโพนสะวันในคืนนี้ ด้วยระยะทางอีก 140 กิโลเมตร ที่ดูแล้วไม่ไกลมาก


ทั้งนี้ สมาชิกอีกสองท่าน นอกเสียจากข้าพเจ้า ต่างเคยเดินทางบนเส้นทางนี้มาแล้ว จึงมีความมั่นใจพอสมควร ถึงแม้ว่าแสงตะวันแห่งฤดูคิมหันต์ที่ส่องสาดในแต่ละวัน จะไม่ยืนยาวเหมือนในฤดูกาลอื่นๆ และ ณ เวลานี้กำลังจะหมดลงต่อหน้าต่อตา

นอกจากนี้ ทุกคนยังฝันถึงที่พักบรรยากาศแบบชาเลต์ บนยอดเขาสูงที่มองเห็นทิวทัศน์ได้ทั่วเมืองโพนสะวัน เพียบพร้อมด้วยน้ำอุ่น เตาผิง เตียงนอนอันอ่อนนุ่มอบอุ่น อาหารการกินและความสะดวกสบายมาตรฐานตะวันตก ที่กำลังรอคอยเราอยู่ที่นั่น

การเดินทางจึงได้ดำเนินต่อไป โดยข้าพเจ้าสลับมาทำหน้าที่พลขับในรถนำ และคุณจ่าน้อมทำหน้าที่ขับรถตามเช่นเดิม

หลังจากผ่านหมู่บ้านชาวม้งสองข้างทางไปได้ระยะหนึ่ง ความมืดมิดก็มาถึง

ประกอบกับเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย และโค้งไปมาตลอดอยู่บนภูเขา ทำให้ข้าพเจ้าไม่กล้าใช้ความเร็วมากนัก

เพราะนอกจากพื้นถนนข้างหน้าตามที่เห็นได้จากแสงไฟแล้ว ไม่สามารถมองมองเห็นอะไรอย่างอื่นอีก

ยกเว้นแสงไฟจากรถบรรทุก หรือรถโดยสาร ที่วิ่งอยู่ข้างหน้า หรือวิ่งสวนมานานๆสักคันหนึ่ง

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เส้นทางบนภูเขาในประเทศลาว ถึงแม้ผิวทางจะค่อนข้างแคบกว่ามาตรฐานปัจจุบัน

แต่ก็เรียบสนิทไม่มีปะผุ และไม่มีช่วงไต่ระยะสูงชันมากๆ หรือโค้งหักข้อศอกเป็นตัว V อย่างที่พบได้บ่อยๆ ในเมืองไทย

ทำให้สามารถขับไปได้เรื่อยๆโดยไม่เครียด ถึงแม้จะต้องขับชิดขวาก็ตาม จะมีตื่นเต้นและต้องระวังมาก ก็เฉพาะเวลาที่ต้องแซง

ความท้าทายข้อแรกคือ พื้นที่แซงจะแคบมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องแซงรถบรรทุกใหญ่

และอีกข้อหนึ่งคือ คนขับไม่สามารถเห็นรถที่วิ่งสวนมาจากอีกฝั่งได้ด้วยตนเอง

ซึ่งข้อหลังนี้ หากใช้รถพวงมาลัยซ้ายก็จะไม่เป็นปัญหา

ข้าพเจ้าขับไป ก็รู้สึกอิจฉาสมาชิกเพื่อนรวมทางทั้งสอง ผู้เคยผ่านเส้นทางช่วงนี้ในตอนกลางวันมาก่อน ได้เคยเห็นความงามของธรรมชาติสองข้างทาง ดังที่ปรากฏชัดเจนอยู่ในบันทึกของตาเกิ้น

ไม่เหมือนครั้งนี้ ที่นอกจากแสงไฟหน้ารถ ข้าพเจ้าได้เห็นแต่เพียงความมืดมิด

และยังเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เห็นเมืองเล็กเมืองน้อยอื่นๆบนเส้นทาง อย่างเช่นเมืองสุย ที่ปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์การสู้รบของสงครามปฎิวัติครั้งนั้นด้วย

7. โพนสะวัน

เกือบสองทุ่มแล้ว เส้นทางจึงลดระดับเข้าสู่ตัวเมืองโพนสะวัน

และเมื่อวิ่งผ่านสี่แยกใหญ่เข้าสู่ตัวเมือง มาจนถึงใจกลางเมืองแล้ว คณะเดินทางก็จอดรถลงตรงหน้าสำนักงาน MAG (MINE ADVISORY GROUP) หรือ “องกานเก็บกู้ละเบิดแม็ก ปะจำ สปป ลาว”



โพนสะวัน ได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงใหม่ของแขวงเชียงขวาง หลังจากสงครามปฏิวัติของลาวสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายขบวนการปะเทดลาว

โดยก่อนหน้านี้ เมืองเชียงขวางเดิม หรือปัจจุบันคือเมืองคูน ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกราว 30 กิโลเมตร ถูกทิ้งระเบิดเสียราบเรียบไปเกือบทั้งเมือง

เหลือเพียงซากวัดเก่าให้เห็นอยู่เพียงเล็กน้อย

ย้อนอดีตกาลไปนานกว่านั้น บริเวณนี้คืออาณาจักรเชียงขวางอันอุดมสมบูรณ์ของชาวพวน มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9

โดยมีเมืองเชียงขวางเดิม เป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักร มีหลักฐานว่าเคยมีโบราณสถานหลายแห่งตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังและวัดวาอารามต่างๆ

ต่อมา อาณาจักรแห่งนี้ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรใหญ่อื่นๆรอบข้าง ที่มีแสนยานุภาพมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นญวน ล้านช้าง สยาม

ล่วงมาจนถึงปี พ.ศ.2418 – 2430 พวกฮ่อจากจีนตอนใต้ ได้บุกเข้ายึดครองและปล้นสดมภ์ เผาทำลายบ้านเรือนไปเสียเป็นอันมาก

กองทัพสยามต้องยกขึ้นมาปราบปรามหลายครั้ง กว่าจะสามารถเอาชนะได้

เมืองเชียงขวางเดิม ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในยุคอาณานิคม มีการก่อสร้างตึกรามแบบฝรั่งเศสขึ้นหลายแห่ง

แต่ก็พังราบเรียบลงอีกในระหว่างสงครามปฏิวัติ จากการปูพรมทิ้งระเบิดจำนวนมหาศาลโดย ทอ. ของอเมริกัน ทั้งที่นี่และพื้นที่โดยรอบ นับเป็นสถิติสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการทิ้งระเบิดกันมา

จนทุกวันนี้ องค์การ MAG ก็ยังเก็บซากไปทำลายทิ้งได้ไม่หมด

ตัวข้าพเจ้าเมื่อสมัยยังเป็นวัยรุ่น ได้เคยรู้จักลูกหลานชาวพวนผู้ถูกอพยพมาอยู่ที่จังหวัดนครนายกท่านหนึ่ง

ท่านผู้นี้มีนามว่า จ่าเฟื่อง ได้เปิดร้านสุกี้ระดับเชลล์ชวนชิมขึ้นที่อำเภอปากพลี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2516

ต่อมาได้กลายเป็นต้นตำหรับ “สุกี้ลาวพวน” และแจ่วแบบลาวพวน ที่ร้านอาหารหลายแห่งในเขตนครนายกและปราจีนบุรี ยังคงสืบทอดตำรามาจนเป็นตำนานถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันประชากรที่นี่ นอกจากจะเป็นชาวพวนที่สืบทอดเชื้อสายเดิมลงมาส่วนหนึ่งแล้ว ยังมีชาวไตดำ หรือไทดำ และชาวม้ง เข้ามาตั้งรกรากอยู่ด้วยเป็นอันมาก

เมืองโพนสะวันจึงเป็นชุมชนเกิดใหม่ มีถนนหนทางหลายสาย มีหน่วยราชการ หน่วยทหาร สนามบิน และย่านการค้ามากมาย

แต่ไม่เหลือเค้าของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตให้เห็น

อากาศยามค่ำคืนของเมืองโพนสะในวันนี้ เย็นเฉียบอยู่ที่ประมาณ 15 องศา

คณะเดินทางแวะเข้าเยี่ยมชมสำนักงาน MAG ซึ่งยังเปิดโชว์รูมแสดงซากลูกระเบิดใหญ่น้อย รวมไปถึงจรวด และหัวกระสุนลูกแตกนาๆชนิด ให้ดูได้อย่างจุใจ



ใกล้ๆกับสำนักงาน MAG  มีร้านอาหารอยู่สองสามร้าน ร้านหนึ่งมีนักท่องเที่ยวฝรั่งนั่งอยู่เต็ม ถัดไปอีกร้านหนึ่ง มีทั้งฝรั่ง และหนุ่มสาวชาวไทยกลุ่มหนึ่งนั่งทานอาหารร้อนๆอยู่

ด้วยกลิ่นอาหารที่ค่อนข้างคุ้นเคย เราจึงเลือกรับประทานมื้อค่ำที่ร้าน “สิมมาลี” แห่งนี้

และได้ทักทายพี่น้องชาวไทย ที่นั่งรับประทานอาหารอยู่ก่อน ทราบว่าเป็นคณะอาจารย์และนักศึกษาจากอุดรธานี เดินทางมาทัศนศึกษาเมืองเชียงขวาง และทุ่งไหหิน กำลังจะเดินทางต่อไปหลวงพระบางในวันรุ่งขึ้น

ทำให้เรารู้สึกเสียดายเล็กน้อย ที่จะไม่ได้เป็นเพื่อนร่วมทางกัน


แม่หญิงเจ้าของร้านและผู้ช่วย ต่างยิ้มแย้มต้อนรับ ส่งภาษากับพวกเราได้ไม่ติดขัด และนำเครื่องทำความร้อนแบบแสวงเครื่อง คือ ถ่านไฟร้อนๆสุมไว้ในกาละมังโลหะ มาวางใกล้ๆเพื่อให้ความอบอุ่นแก่พวกเรา


โทรทัศน์ในร้านเปิดช่องทีวีพูลของประเทศไทย ซึ่งกำลังถ่ายทอดพิธีเฉลิมฉลองงานเฉลิมพระชนมพรรษา จากท้องสนามหลวง

ความที่เดินทางมาไกลและค่อนข้างเหนื่อยล้า เราจึงสั่งอาหารในปริมาณมากที่เกินกว่าจะรับประทานหมดเกือบหนึ่งเท่า

ทุกจานมีขนาดใหญ่กว่าที่เราคิด ทั้งไข่เจียว ต้มยำ ผัดหมู ผัดผัก 

ค่าอาหารและเครื่องดื่ม มีเบียร์ลาวด้วย รวมเป็นเงิน 140,000 กีบ


ขณะที่คณะเดินทางกำลังมองอาหารที่เหลืออยู่มากมาย ด้วยความเสียดายอยู่นั้น แม่หญิงเจ้าของร้าน ผู้คงจะเคยต้อนรับนักเดินทางผู้หิวโหยมาหลายคณะจนชินแล้ว ก็รีบเอ่ยปากบอกว่า

กลับมากินต่อพรุ่งนี้ก็ได้ จะเก็บไว้ให้

8. ภูผาแดง และทุ่งไหหิน

ท่านท้าวไกรสร ได้ใช้ความคุ้นเคยกับ คุณสัญญา แว็งซองต์ ผู้เป็นเจ้าของที่พักสไตล์รีสอร์ทแบบฝรั่งเศส หนึ่งเดียวในเมืองโพนสะวัน นามว่า AUBERGE PLANE DES JARRES หรือ โรงแรมภูผาแดง จับจองที่พักแห่งนี้ไว้ล่วงหน้า ในราคาคืนละ 288,000 กีบ รวมอาหารเช้า

ดังได้กล่าวไปแล้ว ที่นี่มีความสะดวกสบายครบถ้วนตามมาตรฐานตะวันตก


มีบริกรนำไม้ฟืนมาจุดเตาผิงให้เราถึงห้องพักแบบบังกะโล ซึ่งตั้งอยู๋ริมหน้าผาท่ามกลางป่าสน สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองโพนสะวันเบื้องล่างได้จากหน้าต่าง

ภายในกว้างขวาง ห้องน้ำที่นอนสะอาดสะอ้าน







วันรุ่งขึ้น พฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม หลังจากรับประทานอาหารเช้าแบบคอนติเน็นตัลที่โรงแรม คณะเดินทางได้พาข้าพเจ้าไปเยี่ยมชมทุ่งไหหิน 1



ใครก็ตามที่มาเยือนทุ่งไหหิน ย่อมอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่า ไหโบราณลูกใหญ่ๆทำด้วยหินล้วนเหล่านี้ มีที่มาอย่างไร


ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบใดที่น่าเชื่อถือ นอกไปเสียจากเป็นที่เก็บสมบัติและเถ้าถ่านของผู้ที่จากไป


สนับสนุนด้วยเรื่องเล่าขานว่า พวกฮ่อครั้งมาปล้นสดมภ์ ก็ได้ล้วงเอาสมบัติต่างๆที่เก็บไว้ในไหเหล่านี้ไปด้วยจนหมดสิ้น

แต่สำหรับคณะเดินทางแล้ว พวกเราชอบคำตอบที่ว่า ไหเหล่านี้คือจอกเหล้า ที่กองทัพยักษ์ใช้ดี่มฉลองชัยชนะจากการศึก แล้วโยนทิ้งไว้เรี่ยราดเต็มทุ่ง มากที่สุด





เพราะเมื่อพินิจพิจารณาดูสิ่งที่เห็นอยู่โดยรอบแล้ว สามารถหลับตานึกถึงภาพเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างแจ่มแจ้ง

เสร็จจากการชมทุ่งไหหิน คณะเดินทางกลับมาที่โรงแรม เพื่อเก็บข้าวของ และวางแผนการเดินทางสำหรับวันนี้


เมื่อได้ศึกษาแผนที่ พร้อมฟังข้อมูลเรื่องสภาพเส้นทางจากคุณสัญญาแล้ว เราเชื่อว่าน่าจะเดินทางเข้าสู่แขวงหัวพัน ไปถึงเมืองซำเหนือภายในวันนี้ได้

หลังจากกลับไปรับประทานอาหารที่เหลือที่ร้านสิมมาลี ซึ่งเจ้าของร้านผู้อารีได้เก็บรักษาไว้ครบถ้วน และนำมาอุ่นใหม่ให้เป็นอย่างดีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแล้ว


คณะเดินทางก็ข้ามถนนไปรับประทาน “กาแล้ม” หรือไอศกรีม ซึ่งเป็นก้อนสี่เหลี่ยมใหญ่เท่าก้อนอิฐอยู่ในห่อกระดาษ

ต้องนำมาตัดแบ่งเป็นชิ้นๆใส่จานก่อนแล้วใช้ช้อนส้อมในการรับประทาน





9. เมืองคำ

เส้นทางต่อจากนี้เป็นต้นไป ยังไม่มีพวกเราคนใดเคยเห็นมาก่อน แม้แต่จากรูปภาพ ต้องอาศัยข้อมูลจากแผนที่ซึ่งไม่ละเอียดนัก และคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ค่อยตรงกัน 

ทำให้รู้สึกตื่นเต้นตึ้กตั้ก คึกคักพอสมควร



หลังจากเติมน้ำมันเต็มถังแล้ว คณะเดินทางจึงออกเดินทางจากโพนสะวัน เมิ่อเวลาเที่ยงครึ่ง

เราเชื่อว่า ด้วยระยะทางประมาณ 230 กิโลเมตร และเส้นทางภูเขา กับข้อมูลต่างๆที่ได้รับฟังและประมวลผลออกมา เราน่าจะไปถึงซำเหนือได้ทันพลบค่ำ




ท.7 พาเราไปถึงเมืองคำ ซึ่งอยู่ห่างจากโพนสะวันไปเพียง 55 กิโลเมตร เมื่อเวลาบ่ายสองโมง

ระหว่างทางได้จอดรถแวะชมทัศนียภาพ ถ่ายภาพ และแวะพูดคุยกับชาวบ้านที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง หลังจากสังเกตว่า ทุกๆบ้าน ต่างใช้ปลอกลูกระเบิดมาทำเป็นเสารั้ว เรียงรายไปตามถนน เป็นระเบียบอย่างกับรั้วคาวบอย



นอกจากนี้ ยังนำไปประยุกต์ใช้ทำประโยชน์อื่นอีกหลายอย่าง ตามแต่รูปทรงจะอำนวย เช่น กระถางต้นไม้ ถังขยะ หลักเขตประตูรั้ว เสาบ้าน แม้แต่กระทั่งตั้งเสาสำหรับติดจานดาวเทียม


ถือได้ว่า ชาวบ้านเหล่านี้ แม้จะอยู่ห่างไกลจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีสินค้านำเข้าจากอเมริกาไว้ใช้สอยกันเต็มบ้านอย่างเหลือเฟือ

และยังทำให้สมาชิกของคณะเดินทางบางท่าน ผู้ชอบสะสมของเหลือใช้จากสงคราม เกิดอาการตาลุก รู้สึกเปรี้ยวปากอยากจะเจรจาขอแบ่งปัน เพื่อจะได้นำสมบัติอันล้ำค่าเหล่านี้ ขึ้นรถขนกลับไปตั้งโชว์ไว้ที่บ้านบ้าง


ที่สามแยกเมืองคำ เป็นจุดเริ่มต้นของ ท.6 ซึ่งแยกจาก ท.7 ขึ้นไปทางเหนือ คณะเดินทางได้หยุดรถลงเดินสำรวจบริเวณรอบๆ






พบว่า ฝั่งหนึ่งเป็นลานดินกว้าง ที่รถบรรทุกและรถโดยสารใช้เป็นที่จอดพักรถและขึ้นลง


ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นสนามหญ้า และที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ของท่าน “ปะทานไกสอน พมวิหาน” อดีตผู้นำปฏิวัติ และนายกรัฐมนตรีคนแรกของ สปป. ลาว 

มีคำจารึกว่า “ยืนยงอยู่ในพาละกิดของพวกเราตะหลอดไป”




คุณจ่าน้อมจึงเริ่มปฏิบัติภารกิจ ด้วยการมองหาบริเวณที่เรียกกันว่า “ทุ่งเชียงคำ” ในอดีต อันเป็นสมรภูมิในการรบระหว่างพวกฮ่อกับกองทัพสยาม เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน ในรัชสมัยของ ร.5


ครั้งนั้น พวกฮ่อได้ตั้งค่ายอันแข็งแรงขึ้นเป็นที่มั่น สำหรับต้านทานการจู่โจมจากกองทัพสยาม ที่พยายามบุกเข้าตีอย่างแตกหักอยู่หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

จนในทีสุดพวกฮ่อแอบทิ้งค่ายล่าถอยไปเองหลังจากเสบียงหมด

ในประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ค่ายของพวกฮ่อนี้ ใช้กอไผ่ที่ขึ้นอยู่เบียดกันอย่างหนาแน่นตามธรรมชาติเป็นปราการอันแข็งแรง

และในวันนี้ คณะเดินทางของเราก็ได้สำรวจพบว่า ยังมีทุ่งนาและป่าไผ่ ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ในทุ่งรอบๆบริเวณนี้มากมาย


พวกเราจึงประชุมสรุปความเห็นกันเอาเองว่า สมรภูมิทุ่งเชียงคำในอดีต และที่ตั้งค่ายของพวกฮ่อในครั้งนั้น จะต้องอยู่ที่ตรงนี้เป็นแน่แท้

หรือหากไม่ใช่ ก็ใกล้เคียง

10. ทางหลวงหมายเลข 6

บ่ายสองโมงแล้ว ทุกคนกลับขึ้นรถ เพื่อขับต่อไปให้ถึงจุดหมายสำหรับวันนี้

จากสามแยกเมืองคำ เมื่อออกรถไปได้ชั่วครู่ สามารถมองเห็น ท.6 เป็นเส้นตรงพุ่งยาวออกไป วิ่งเข้าหาขุนเขาอันสลับซับซ้อนที่อยู่ไกลลิบเบื้องหน้า

ช่างเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นยิ่งนัก


และไม่มีใครในคณะเดินทางเฉลียวใจเลยว่า นี่คือทางตรงที่ยาวที่สุด และเป็นทางตรงเส้นสุดท้าย ที่เราจะได้สัมผัสในการเดินทางครั้งนี้

เส้นทางนี้มีรถไม่มากนัก และเมื่อขึ้นเขาไปแล้ว พบว่ากำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุงผิวทาง

มีช่วงที่เพิ่งจะราดแอสฟัลท์ชั้นแรกๆ และที่ยังเป็นทางกรวดบดเรียบ รอการราดแอสฟัลท์อยู่อีกหลายช่วง

แต่ไม่พบทางชำรุดหรือทางยังไม่ได้บดอัด จึงไม่สร้างปัญหาในการเดินทางมากนัก นอกเสียจากฝุ่น ที่ทำให้ไม่สามารถเปิดกระจกรับอากาศเย็นบนภูเขาให้ชื่นใจได้





สองข้างทางมีหมู่บ้านชาวม้งตั้งอยู่เป็นระยะๆ ทุกแห่งจะมีคณะกรรมการประจำหมู่บ้าน คอยทำหน้าที่ต้อนรับพวกเราอย่างแข็งขัน

เริ่มด้วยฝูงไก่ ซึ่งจะวิ่งสวนสนามกลับไปกลับมา จนใกล้จะถูกรถทับแล้ว จึงจะเลิกแถว

ตามด้วยฝูงลูกหมูตัวดำๆ ซึ่งจะเกาะกลุ่มวิ่งออกไปในทิศทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง

ส่วนพวกฝูงแพะมักจะยืนจับกลุ่มต้อนรับอยู่ข้างถนน


ทุกหมู่บ้านล้วนมีน้ำประปาธรรมชาติใช้ โดยต่อท่อลงมาจากภูเขา เข้าไปไว้ที่บ่อส่วนกลางของหมู่บ้าน ให้ทุกคนตักใส่ภาชนะไปใช้ที่บ้าน

และถึงจะเป็นหน้าแล้งดังเช่นเวลานี้ น้ำก็ยังไหลแรงดีไม่แพ้ในเมืองใหญ่ๆ

รถวิ่งต่อไปถึงสะพานข้ามน้ำเนิน ซึ่งเป็นสะพานโครงเหล็กขนาดใหญ่ สร้างโดยวิศวกรจากรัสเซีย มองลงไปเห็นธารน้ำใสไหลอยู่เบื้องล่าง ใสจนเห็นตะไคร่น้ำสีเขียวสดที่ขึ้นอยู่บนท้องแม่น้ำ

เห็นชีวิตชาวบ้านยามเย็น ที่ยังผูกติดอยู่กับสายน้ำของพวกเขา อย่างไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปรไปเป็นอย่างอื่น




ที่แม่น้ำเนินนี้ เราได้เห็นโครงการไฟฟ้าหมู่บ้าน โดยการโกยหินจากท้องแม่น้ำ กองเรียงขึ้นให้เป็นเขื่อนเล็กๆ แล้วนำเครื่องปั่นไฟขนาดเล็กไปจุ่มไว้ใต้กระแสน้ำ

บ้านหนึ่งก็เครื่องหนึ่ง เรียงรายกันไป ต่อสายไฟขึ้นไปใช้บนบก

นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพิ่มเติมจากการใช้เพียงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์

เลยจากน้ำเนินไม่ไกล คณะเดินทางมาถึงสามแยกพูเล้า เมื่อเวลาห้าโมงเย็น

จากที่นี่ หากเลี้ยวซ้าย จะเป็น ท.1 ซึ่งวิ่งไปเชื่อมต่อกับ ท.13

เราจึงเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางของ ท.6


ทางเริ่มขึ้นเขาสูงมากขึ้น จากระดับความสูงที่แปรเปลี่ยนอยู่ในช่วงระยะ 1200 เมตรที่ผ่านมา บัดนี้เริ่มไต่ขึ้นไปถึง 1400 เมตร

และบัดนี้ เราได้เข้ามาอยู่ในแขวงหัวพัน หรือที่เอกสารประวัติศาสตร์ของไทยเรียกว่า หัวพันห้าทั้งหก หรือ หัวพันทั้งห้าทั้งหก อย่างเต็มตัวแล้ว

แขวงหัวพันตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงใหญ่ หลายยอดมีความสูงเฉียด 2000 เมตร หรือสูงกว่า และยังเต็มไปด้วยป่าไม้ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ 

หลายชนิดเป็นไม้เมืองหนาว ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นต้นเมเปิ้ล ที่ใบไม้เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง กำลังเตรียมจะผลัดใบด้วย

หัวพันยังมีเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ของประเทศลาวอีกอย่างหนึ่ง คือ แม่น้ำทุกสายที่มีต้นทางที่นี่ จะไหลไปทางทิศตะวันออกลงสู่อ่าวตังเกี๋ย

มิได้ไหลไปทางทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำโขง ดังเช่นแขวงอื่นๆในภาคเหนือ

ในอดีตกาล หัวพันเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสิบสองจุไท หรือสิบสองเจ้าไท ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆของชนเผ่าไต หรือผู้ไท หลายกลุ่ม ที่มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำดำ และแม่น้ำแดง ในตอนเหนือของเวียดนาม

ตามตำนานเล่าว่า ด้วยอากาศที่หนาวเย็น ทำให้การแต่งกายของผู้คนในแถบนี้ จะต้องมีผ้าผืนหนาพันมัดรอบศีรษะไว้ให้อบอุ่นอยู่เสมอ ต่างไปจากพวกที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ต่ำและอุ่นกว่า

จนกลายเป็นที่มาของคำว่า หัวพัน

ส่วนอีกตำราหนึ่ง ซึ่งฟังดูเป็นวิชาการกว่า อธิบายว่า หมายถึงหัวเมืองระดับพันคน หรือพันห้า แล้วแต่ขนาด และมีอยู่ทั้งหมดหกแห่งในเขตนี้

แสงสุดท้ายของวันนี้ หมดลงที่ 70 กิโลเมตร ก่อนถึงเมืองซำเหนือ นาฬิกาบอกเวลาอีก 20 นาทีจะหกโมงเย็น


จากนั้น ความมืดแบบมืดจริงๆ คือมืดจนมองไม่เห็นอะไรเลย นอกจากแสงไฟหน้ารถ ก็กลับมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง

โชคดีที่เส้นทางต่อจากนี้ปรับปรุงเสร็จหมดแล้ว ประกอบกับแทบจะไม่มีรถคันใดอื่นวิ่งอยู่เลย เราจึงใช้ความเร็วได้ตามสมควร

แต่ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึกว่า กว่าจะผ่านแต่ละหลักกิโลเมตรไปได้ ต้องใช้เวลานานเหลือเกิน

อีกเพียงหกสิบกว่ากิโลเมตรก็จะถึงแล้ว กลับดูเหมือนไกลมาก

เพื่อเป็นการแก้เบื่อ ข้าพเจ้าจึงทดลองนับจำนวนโค้งดูว่า มีมากหรือน้อยอย่างไร

หลังจากระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรผ่านไป ก็พบว่า มีจำนวนโค้งสูงสุดที่ 26 โค้งต่อ 1 กิโลเมตร จำนวนต่ำสุดอยู่ที่ 10 โค้ง ส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ 15-20 โค้ง

ช่วงใดที่ทางลดระดับลงสู่หุบเขา จะพบหมู่บ้านตั้งอยู่สองฟากฝั่ง

บางหมู่บ้านยังไม่มีแสงไฟ หรือมีแต่ไม่เปิดก็ไม่ทราบได้

บางหมู่บ้านจะมีหลอดตะเกียบ เปิดไฟไว้บ้านละ 1 หลอด

แต่ไม่ค่อยเห็นผู้คนนัก เข้าใจว่าคงจะเข้าบ้านกันแต่หัวค่ำ

อากาศข้างนอกเริ่มหนาวเย็นมากจนไม่สามารถเปิดกระจกได้ ข้าพเจ้ารู้สึกเบื่อและอึดอัดมากขึ้น เมื่อเห็นนาฬิกาบอกเวลาทุ่มครึ่ง และยังไม่มีวี่แววว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่วางไว้

แต่แล้วอยู่ดีๆ เส้นทางภูเขาที่ขึ้นๆลงๆสลับกันมาตลอด ก็เปลี่ยนเป็นลดระดับลงอย่างเดียว โดยไม่เป็นทางระนาบ หรือไต่ขึ้นอีก

ข้าพเจ้ามองออกไปเบื้องล่าง ทางขวามือของตัวรถ เห็นแสงไฟดวงเล็กดวงน้อยท่ามกลางความมืด สว่างไสวกระจัดกระจายอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ อย่างกับทางช้างเผือก ค่อยๆลอยใกล้ขึ้นมา

และในที่สุด ก็ได้เห็นหลักกิโลเมตรข้างถนน เขียนว่า XAMNEAU 1 KM

เป็นการยืนยันว่า บัดนี้ คณะของเรา ได้บรรลุจุดหมายสำคัญอันแรกของการเดินทาง ดังที่ตั้งใจไว้แล้ว

(คลิกที่นี่ เพื่อติดตามดูสถานที่ เส้นทาง และเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจยิ่งขึ้นได้ในตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น