บันทึกการเดินทางสำรวจเส้นทาง
เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ผ่าน 7 แขวงแห่งขุนเขา ในภาคเหนือตอนบนของประเทศลาว อันได้แก่
เชียงขวาง หัวพัน หลวงพระบาง อุดมไชย พงสาลี หลวงน้ำทา และบ่อแก้ว
แถมพกด้วยการเดินทางข้ามชายแดนจากแขวงพงสาลี
เข้าไปจนถึงเมืองเดียนเบียนฟู ในประเทศเวียดนาม และการข้ามชายแดนที่แขวงหลวงน้ำทา เข้าไปยืนด้อมๆมองๆดูแผ่นดินจีนยูนนานอีกหน่อยหนึ่ง
โดย ม.ต่อศักดิ์
และสหาย
21. เมืองขวา
ถนนที่นำเรามาถึงเมืองขวา
สิ้นสุดลงทันทีที่ถึงเมืองขวา
ที่กล่าวเช่นนี้
ก็เพราะถนนราดยางหมดลงแค่นี้จริงๆ
จากจุดนี้จะเข้าเมือง กลายเป็นทางขรุขระ
ที่ยังมีหินก้อนใหญ่ปูดขึ้นมาอยู่ทั่วไป และระดับทางก็ลดต่ำลงไปจากเดิมเกือบคืบหนึ่ง
ทำให้ต้องค่อยๆนำรถลงอย่างระมัดระวังยิ่ง
ขณะนั้นเป็นเวลาห้าทุ่ม
คณะเดินทางพบว่า เมืองทั้งเมืองมืดสนิท เงียบกริบ ไม่มีผู้คน ไม่มีความเคลื่อนไหว
ทุกบ้านล้วนปิดประตูหน้าต่างมิดชิด ไม่มีแสงไฟลอดออกมาจากในบ้านให้เห็น ไม่มีร้านค้าที่ยังเปิดอยู่
หรือป้ายบอกทางบอกสถานที่ใดๆ
เมืองนี้ไม่ใช่เมืองเล็กๆ
มีถนนหลายสายและตึกรามบ้านช่องมากมาย
แต่ไม่รู้ว่าคนทั้งเมืองหายไปไหน
ทำไมจึงมืดและเงียบไปหมดยิ่งกว่าป่าช้า ไม่มีอะไรขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ ไม่พบสัญญานของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าในรูปแบบใดๆเลย
ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกหวาดๆ
ระคนตื่นเต้น ที่พวกเราเพียงไม่กี่ชีวิต มีอันต้องเข้ามาอยู่ในบรรยากาศอันมืดมิด วังเวง
และลึกลับน่าขนลุก ราวกับในภาพยนตร์สยองขวัญ
พวกเราจอดรถลงตรงหน้าสถานที่แห่งหนึ่ง
ภายนอกมีรั้วโปร่งและประตูรั้วเหล็กดัด ส่องไฟเข้าไป มองเห็นเป็นอาคารสองชั้นหลังคาทรงไทย
พบป้ายชื่อเขียนว่า โรงแรมเสินนะลี
แต่ไม่พบร่องรอยความเคลื่อนไหว หรือสิ่งมีชีวิตใดๆอีกเช่นกัน
คณะเดินทางตัดสินใจออกเดินสำรวจ
ส่องไฟไปตามบ้านเรือนริมถนน เปิดไฟหน้ารถช่วยส่องทาง
อย่างน้อยให้พอมีแสงสว่างเป็นเพื่อนบ้าง
หลังจากผ่านไปแยกหนึ่ง ท่านท้าวไกรสรผู้มีความช่างสังเกต
ก็ชี้ให้ดูแสงเทียนริบหรี่ ลอดออกมาจากช่องแสงเหนือบานหน้าต่างของเรือนแถวห้องหนึ่ง
และเมื่อฉายไฟดูรอบๆแล้ว จึงเห็นว่ามีป้ายแขวนอยู่เหนือประตู มีตัวหนังสือเขียนบอกว่าเป็นเรือนพัก
พวกเราปรึกษากันว่า
ในยามวิกาลท่ามกลางความเปลี่ยวเช่นนี้ คงไม่เหลือทางเลือกอย่างอื่นอีกแล้ว
จึงตัดสินใจเข้าไปเคาะประตูแรงๆ
ดูสองสามครั้ง เชื่อว่าน่าจะต้องมีคนอยู่ในบ้าน
ข้าพเจ้ารู้สึกใจเต้นตึ้กตั้ก
กลั้นใจนึกอยู่แต่ไม่กล้าพูดออกมาว่า หากในบ้านเป็นอย่างอื่นไม่ใช่คน จะทำอย่างไร
เปิดออกมาแล้ว พวกเราจะถูกดูดเข้าไปข้างใน ถูกรุมล้อมด้วยสิ่งลึกลับ จับไปทำอะไรอย่างในหนังหรือไม่
แต่แล้วก็ถอนหายใจโล่งอก
เมื่อเจ้าของบ้านผู้เป็นแม่หญิง ที่ดูอย่างไรก็เป็นคนแน่ๆ เปิดประตูออกมาต้อนรับ
คุณจ่าน้อมรีบฉายไฟมองเข้าไปในบ้าน
เห็นมีเพียงเบียร์ลาวขวดหนึ่งกับแก้วใบหนึ่ง และไพ่อีกสำรับหนึ่ง วางอยู่บนโต๊ะ
มีเทียนเล่มหนึ่งจุดไว้เพื่อให้แสงสว่าง
กวาดสายตาดูทั่วแล้ว ไม่มีธูป ลูกแก้วลูกประคำ หัวกระโหลก
ผ้ายันต์ หรือรายการต้องสงสัยอื่นๆ
เมื่อความลึกลับและตื่นเต้นหมดไป
พวกเราจึงรู้ตัวว่า ได้เข้ามารบกวนเวลาพักผ่อนของเจ้าของบ้านโดยไม่ตั้งใจ
แต่ถึงกระนั้น
แม่หญิงเจ้าของบ้านยังคงมีเมตตา ใช้มือถือโทร.ติดต่อหาที่พักที่อื่นให้
เมื่อเห็นว่าบ้านของตนไม่มีที่เพียงพอสำหรับพวกเราทุกคน
ด้วยน้ำใจของแม่หญิงชาวเมืองขวา
เราจึงได้เข้าพักที่ “เรือนพักแก้วพิลา 2” ซึ่งเป็นอาคารสามชั้นอยู่ริมถนน
ภายในมีไฟฟ้าใช้ ห้องพักมีห้องน้ำในตัว มีน้ำร้อน
ไม่ถึงกับสะอาดหมดจด แต่ก็กว้างขวางสะดวกสบายพอควร
ในราคาห้องละ 40,000 กีบต่อคืน
และได้รับทราบข้อเท็จจริง
เฉลยข้อสงสัยเรื่องความมืดมนอันน่าฉงน ที่เพิ่งประสบพบมาว่า เมืองขวานี้มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่เวลาหกโมงเช้าถึงสี่ทุ่มเท่านั้น
หากต้องการใช้ไฟฟ้านอกเวลาที่กำหนด จะต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นของตนเอง
22. เมืองขวา - ด่านสบฮุน
วันรุ่งขึ้น อาทิตย์ที่
9 ธันวาคม 2550 หลังจากนอนหลับเป็นตายไปเมื่อสองยามเศษ คณะเดินทางไม่ลืมที่จะรีบตื่นแต่เช้า
เพื่อหาทางข้ามแม่น้ำอู และไปให้ถึงชายแดนเวียดนาม
เมืองขวายามเช้า
ให้ความรู้สึกต่างไปจากเมื่อคืนนี้โดยสิ้นเชิง ผู้คนมากมาย การค้าขายคึกคัก
บนถนนมีรถโดยสาร และรถบรรทุกวิ่งไปมาเป็นระยะๆ
ข้าพเจ้าสังเกตเห็นสำนักงานโอนเงินของ Western Union ตั้งอยู่ไม่ไกลจากท่าน้ำด้วย
คณะเดินทางรับประทานอาหารเช้าแบบฝรั่ง
ประกอบด้วย กาแฟ ขนมปัง ไข่ดาว ที่ร้านอาหารชื่อ “สะบาย-สะบาย”
ซึ่งตั้งอยู่บนตลิ่งชัน มองเห็นทัศนียภาพสวยงามของแม่น้ำอู และสายหมอกแห่งขุนเขาที่โอบล้อมเมืองขวาอยู่
อากาศยามเช้าค่อนข้างหนาวเย็นและยังไม่มีแสงแดด
จากนั้นจึงรีบมุ่งหน้าไปยังท่าข้าม
ซึ่งมีแพขนานยนต์ให้บริการทุกชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่งไปจนถึงสองทุ่มครึ่ง
พวกเราฝากสัมภาระทั้งหมดไว้ที่เรือนพักเมื่อคืน
นำเอาของกินของใช้เท่าที่จำเป็นติดตัวไปกับรถเท่านั้น และจองซื้อตั๋วเพื่อลงแพเที่ยวแปดโมงครึ่งได้พอดี
ชาวเมืองขวายังคงใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดเป็นธรรมชาติอยู่กับแม่น้ำอู ในยามเช้านี้ คณะเดินทางได้เห็นชาวบ้านพากันมาอาบน้ำ สระผม ล้างหน้า แปรงฟัน ซักผ้า ล้างรถ เรียงรายกันอยู่อย่างไม่เคอะเขิน ระหว่างที่เรากำลังนำรถลอยแพข้ามไปอีกฟากหนึ่ง
ถนนฝั่งตรงข้ามเป็นทางคอนกรีตเรียบอยู่เพียงระยะสั้นๆ
จากนั้นเปลี่ยนเป็นทางลูกรังล้วน และผิวทางไม่กว้างเท่าใดนัก
แผนที่บอกเราว่า
ชายแดนอยู่ห่างไปอีก 62 กิโลเมตร แต่ไม่ได้บอกว่า
จะต้องข้ามลำน้ำอีกสามสาย ที่ยังไม่มีสะพานสำหรับให้รถยนต์ข้าม
โชคดีที่เป็นหน้าแล้ง และใต้ท้องรถสูงพอ
จึงสามารถลุยน้ำข้ามไปได้อย่างไม่ยากนัก ข้าพเจ้าคิดว่า
นี่หากเป็นหน้าฝนคงจะข้ามไปมิได้เป็นแน่
วันนี้เราได้เห็นทิวทัศน์อันสวยงามของป่าเขาและลำน้ำอีกครั้ง
เส้นทางค่อยๆไต่ระดับขึ้นเขาโดยตลอด โดยมีข้างหนึ่งเป็นเหวลึก
อีกข้างหนึ่งเป็นผาชัน ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับพอสมควร
บางช่วงถนนจะวิ่งเลียบอยู่บนแนวเขาเหนือแม่น้ำ
มองลงไปฝั่งตรงข้ามเห็นหมู่บ้านริมน้ำตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา
มีสะพานไม้สำหรับคนเดินทอดยาวมาถึงอีกฝั่งหนึ่งด้วย
และบนฝั่งที่เป็นถนนนี้ มีการปลูกศาลาเหมือนกับเป็นโรงจอดรถ เรียงรายเป็นกลุ่มๆอยู่ข้างถนน
ประมาณครึ่งทางผ่านไป
ก็ถึงหมู่บ้านค่อนข้างใหญ่แห่งหนึ่ง ชื่อ เมืองใหม่
มีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างทาง
ก่อด้วยปูน ทาสีขาว และดูเหมือนจะเป็นสิ่งก่อสร้างเพียงอย่างเดียวในเมืองนี้ที่สร้างด้วยปูน
ด้านหนึ่งของป้าย วาดเป็นรูปแม่หญิงในชุดแต่งกายประจำชาติ
ยืนพนมมือไหว้ พร้อมข้อความเขียนว่า “ชาวเมืองใหม่ยินดีต้อนรับท่าน”
ส่วนอีกด้านหนึ่ง เป็นรูปแม่หญิงยืนโปรยข้าวตอกดอกไม้ พร้อมข้อความเขียนว่า “ อวยพอนท่านจ่งเดินทางด้วยความปอดภัย”
ระหว่างทางจากเมืองขวาถึงเมืองใหม่
เราแซงรถบรรทุกไปหนึ่งคัน นอกนั้นมีจักรยาน หรือมอเตอร์ไซด์บ้างประปราย
หลังจากผ่านเมืองใหม่ไปแล้ว
พบเพียงรถกระบะติดป้ายทะเบียนราชการของลาว แล่นสวนมาคันเดียว และไม่พบหมู่บ้านหรือชุมชนใดๆอีก
สองข้างทางเป็นป่าทึบตลอด เส้นทางไต่สูงชันขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้จะถึงระดับหนึ่งพันเมตร
ข้าพเจ้าคำนวณระยะทางจากเลขไมล์ที่หน้าปัดรถ
พบว่าเราออกเดินทางจากเมืองขวามา 65 กิโลเมตร แล้ว
แต่เมื่อมองไปข้างหน้า ตามเส้นทางที่ยังคงไต่สูงขึ้นๆ
ก็เห็นแต่เพียงยอดไม้ ยังไม่เห็นป้าย หรือสัญญาณอะไรบอกว่ากำลังจะเข้าใกล้ชายแดน
หรือจุดหมายอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งเลย
การขับรถไปเรื่อยๆ บนทางเปลี่ยวอยู่เดียวกลางไพร
ไปไม่ถึงไหนเสียทีเช่นนี้ ทำให้เริ่มสงสัยว่าหลงทางหรือไม่ หรือว่าชายแดนไม่ได้มาทางนี้
จะหยุดถามชาวบ้านก็ไม่มีใครให้ถาม จะกลับรถไปตั้งหลักที่เมืองใหม่ก่อนดีไหม
ก็ไม่มีที่ให้กลับ
นาฬิกาบอกเวลาสิบเอ็ดโมง
รวมเป็นเวลาสองชั่วโมงครึ่งแล้วตั้งแต่ออกเดินทางมา
แต่รถทั้งสองคันยังมุ่งหน้าแล่นตามกันต่อไปเรื่อยๆ
เหมือนไร้จุดหมาย
พลันข้าพเจ้าก็สังเกตเห็นวัตถุขนาดเขื่องชิ้นหนึ่ง
เป็นแท่งยาวสีเหลืองสด ตรงปลายงอนชี้ขึ้นเป็นสีแดง ตัดกับสีฟ้าสดของของท้องฟ้ายามใกล้เที่ยง
ซึ่งขณะนั้นใสแจ๋วปราศจากเมฆหมอกและสิ่งอื่นใด
วัตถุชิ้นนั้นโผล่ขึ้นมาจากแนวยอดไม้
ลอยไปมาอยู่สักครู่ ก็ลดระดับลับหายไป แล้วก็ลอยขึ้นมาอีก แล้วก็หายไปอีก
เป็นเช่นนี้อยู่สามสี่ครั้ง
ชวนให้สงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า มันคืออะไรกันแน่ แต่ก็ไม่มีพวกเราคนใดคิดหาคำตอบมาอธิบายปรากฏการณ์ประหลาดนี้ได้
ก่อนจะเริ่มจินตนาการกันไปไกลกว่านี้
ถนนที่ไต่ระยะสูงขึ้นมาตลอด ก็เริ่มลดความชันลงจนได้ระนาบ
และเมื่อโค้งสุดท้ายผ่านไป
คณะเดินทางก็ถอนหายใจโล่งอก เมื่อเห็นรถสองสามคันจอดอยู่ริมทาง
ถัดไปมีไม้กั้นถนน
เลยเข้าไปเป็นอาคารสำนักงานตั้งอยู่สองฝั่ง มองเห็นรถจอดอยู่อีกสามสี่คัน และมีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตให้เห็น
แต่ไม่พบวี่แววของวัตถุประหลาดลึกลับสีเหลืองแดงนั้นอีก
ด่านแห่งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า
“ด่านชายแดนสากนสบฮุน” ตั้งอยู่ริมผากลางผืนป่า
มีอาคารที่ทำการเป็นตึกหลังใหญ่ เครื่องเรือนเครื่องใช้สำนักงานครบถ้วน มีอาคารพักอาศัยสำหรับเจ้าหน้าที่ด้วย
ท่านท้าวไกรสรดีใจมาก เมื่อสอบถามได้ความว่า ด่านแห่งนี้ และด่านของเวียดนามฝั่งตรงข้าม เปิดให้นักเดินทางต่างชาติผ่านเข้าออกได้แล้ว
ท่านท้าวไกรสรดีใจมาก เมื่อสอบถามได้ความว่า ด่านแห่งนี้ และด่านของเวียดนามฝั่งตรงข้าม เปิดให้นักเดินทางต่างชาติผ่านเข้าออกได้แล้ว
เพียงแต่เวียดนามยังไม่อนุญาตให้นำยานพาหนะที่พวงมาลัยอยู่ข้างขวาเข้าไปขับขี่ในฝั่งเวียดนามได้
และโชคยังเข้าข้าง เมื่อพบว่ามีรถโดยสารจากฝั่งลาวคันหนึ่ง กำลังจะมุ่งหน้าไปเมืองเดียนเบียนฟู และอยู่ในระหว่างทำพิธีการผ่านด่าน
รถโดยสารสายนี้ไม่ได้วิ่งทุกวัน และไม่ได้ไปกลับในวันเดียวกันด้วย
หลังจากสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของลาวแล้ว
แผนการเดินทางช่วงที่เหลือในวันนี้ จึงถูกกำหนดขึ้นอย่างเร่งรีบ
กล่าวคือ
คณะเดินทางจะนั่งรถโดยสารคันนี้ไปถึงเดียนเบียนฟู และจะว่าจ้างรถแท็กซี่กลับมาส่งที่ชายแดนให้ทันตอนเย็น
หรือหากไม่ทัน ก็จะกลับในวันรุ่งขึ้น
จากด่านสบฮุน
ทุกคนต้องเดินเท้าไปตามทางลูกรังที่โค้งไปมาตามแนวภูเขา เป็นระยะทางราว 500 เมตร
เข้าสู่ด่านของเวียดนาม ซึ่งมีชื่อสะกดเป็นตัวอักษรเวียดนามว่า TAY TRANG และผู้คนส่วนใหญ่ออกเสียงใกล้เคียงกับภาษาไทยว่า
ไตจาง
จนเมื่อเดินผ่านโค้งสุดท้ายไป
พวกเราจึงได้เผชิญหน้ากับวัตถุลึกลับสีเหลืองแดง ที่เห็นลอยวับๆแวมๆอยู่เหนือยอดไม้ก่อนหน้านี้อีกครั้ง
หนนี้ ปรากฏขึ้นต่อหน้าให้เห็นอย่างเต็มตา ยืนตระหง่านคร่อมขวางอยู่กลางถนน
มันคือ ซุ้มประตูทางผ่านเข้าออกระหว่างประเทศ
ที่ตั้งไว้บนจุดสูงสุดของสันปันน้ำ อันถือเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสองประเทศนั่นเอง
23. ด่านไตจาง - เดียนเบียนฟู
ระหว่างการเดินเท้าเพื่อข้ามแดนนั้น
อากาศค่อนข้างเย็นสบายถึงแม้จะเป็นเวลาเที่ยงวัน มีลมพัดเอื่อยๆ สามารถเดินทอดน่องได้โดยไม่เมื่อยไม่เหนื่อย
ถนนขรุขระเล็กน้อย แต่ก็ไม่ถึงกับตำเท้า และทางไม่ได้ลาดชันมากนัก
ด้านหน้าของพวกเรา
เป็นชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเดินๆอยู่ดีๆก็หยุด แล้วช่วยกันเอาไม้บ้างก้อนหินบ้าง
ขว้างใส่ต้นมะขามเทศที่ขึ้นอยู่ข้างทาง ได้ผลมาหลายฝักทีเดียว
แถมยังใจดีแบ่งให้พวกเรากินด้วย
คุณจ่าน้อมจึงถือโอกาสเข้าไปสนทนาวิสาสะ
ทำให้ทราบว่า ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้เป็นผู้ไทดำ กำลังเดินทางกลับบ้านที่เดียนเบียนฟู
หลังจากข้ามมาค้าขายในฝั่งลาวอยู่หลายเดือน
การสนทนาเริ่มเป็นกันเองยิ่งขึ้น
เมื่อเหล่าผู้ไททราบว่าเรามาจากเมืองไทย และพูดภาษาที่เข้าใจกันได้ไม่ยากหลายคำ
หลังจากเสร็จพิธีการเข้าเมืองที่ด่านไตจางแล้ว
คณะเดินทางจึงซื้อตั๋วรถโดยสารจากคนขับ ได้ในราคาคนละ 40,000 กีบ
และได้ทราบจากคนขับว่า
มีบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ถึงสามสกุล คือ กีบ ด่อง และเหรียญสหรัฐ
ในอัตรามาตรฐานด้วย ทำให้เราไม่รีรอที่จะแลกเงินด่องไว้จำนวนหนึ่งทันที
รถโดยสารคันดังกล่าวนี้
ยี่ห้อฮุนได สภาพผ่านการใช้งานมาแล้วไม่น้อย จำนวนที่นั่งน่าจะประมาณ 30-40
ที่นั่ง
แต่ที่นั่งด้านหลัง มีสัมภาระวางกองอยู่เต็มหมดแล้ว ทั้งบนพื้นทางเดิน ใต้เก้าอี้ บนเก้าอี้ ขึ้นไปจนถึงเพดาน และยังกินพื้นที่ยาวออกมาข้างหน้าจนถึงกลางตัวรถ
แต่ที่นั่งด้านหลัง มีสัมภาระวางกองอยู่เต็มหมดแล้ว ทั้งบนพื้นทางเดิน ใต้เก้าอี้ บนเก้าอี้ ขึ้นไปจนถึงเพดาน และยังกินพื้นที่ยาวออกมาข้างหน้าจนถึงกลางตัวรถ
เหลือที่นั่งด้านหน้าอยู่อีกเพียงสักสิบกว่าที่เท่านั้น
ผู้โดยสารทั้งหมดกำลังรอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเวียดนาม
ซึ่งยืนยงโย่ยงหยกอยู่บนหลังคา ตรวจเช็คสินค้าและสัมภาระ จำนวนไม่น้อยกว่าที่อัดกันอยู่ข้างในตัวรถ
ส่วนพวกเรายืนสังเกตการณ์อยู่ข้างหลัง ข้าพเจ้านับจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดดูแล้ว ได้
20 กว่าคน
เมื่อใกล้เวลารถออก
ทุกคนก็อัดกันขึ้นรถไปได้จนครบ ทั้งนี้ มิตรชาวไทดำ
ผู้น่าจะเชี่ยวชาญกับการเดินทางแบบนี้มาแล้วหลายรอบ ได้เอื้อเฟื้อขยับที่ขยับทาง
ไปจนถึงช่วยดึงหรือดันให้พวกเราได้มีที่นั่งลงตัวตามสมควรแก่อัตภาพ ไม่ต้องบิดขดจนปวดเมื่อยเกินไป
ตัวข้าพเจ้านั้น
ได้ที่นั่งบนพื้นทางเดิน อยู่ตรงบันไดทางลงพอดี
จะนั่งห้อยขาให้สบายก็ได้
แต่ตัดสินใจยืนขึ้นเกาะราวบันไดแทน เพื่อจะได้มองเห็นทิวทัศน์ข้างนอกได้
รถโดยสารที่ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่ามหาศาลทุกตารางนิ้วคันนั้น
หมุนล้อออกจากด่านไตจางเมื่อเวลาบ่ายโมงพอดี
รถวิ่งผ่านอาคารสถานที่หลายหลัง ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
คาดว่าคงจะเปิดเป็นด่านเข้าออกทางบกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเวียดนามในเร็วๆนี้
หลักกิโลเมตรข้างถนนบอกให้ทราบว่า
เรากำลังอยู่บนทางหมายเลข QL
279 และอีก 24 กิโลเมตรจะถึงเมืองเดียนเบียนฟู
หรือที่ชาวเวียดนามเรียกว่า เดียนเบียน เฉยๆ
เส้นทางเป็นถนนลาดยางและลงเขาตลอด
ทิวทัศน์สองข้างทางเป็นป่าเขาเช่นเดียวกับฝั่งลาว
คณะเดินทางคำนวณเวลาว่า
ด้วยระยะทางแค่นี้ และสถาพถนนเช่นนี้ เราน่าจะถึงเดียนเบียนฟูได้ก่อนบ่ายสองโมง
มีเวลาหาเฝอรับประทาน เดินเล่นหรือนั่งรถชมเมือง
แล้วกลับข้ามกลับมาฝั่งลาวภายในวันนี้ได้อย่างสบายๆ
ครึ่งทางผ่านไป
ถนนก็ลดระดับลงสู่ที่ราบ สองข้างทางเริ่มเป็นทุ่งนาและหมู่บ้าน
ข้าพเจ้าสังเกตเห็นบ้านไม้หลังใหญ่
ยกพื้น ชั้นบนมีนอกชานและราวระเบียง หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยอิฐแผ่น
อยู่เรียงติดกันหลายหลังเป็นกลุ่มๆ ดูราวกับหมู่บ้านจัดสรร
หนุ่มชาวไทดำผู้หนึ่ง ชี้ไปที่บ้านเหล่านั้น แล้วหันมาพูดกับข้าพเจ้าอย่างภาคภูมิใจว่า “เฮือนไตรำ บ่ใช่เฮือนเวียด” แล้วชี้ไปที่บ้านก่ออิฐถือปูนใกล้ๆกันหลังหนึ่ง ซึ่งปลูกเป็นห้องแถวชั้นเดียวอยู่ติดพื้นดิน เพื่อให้เห็นความแตกต่าง
หนุ่มชาวไทดำผู้หนึ่ง ชี้ไปที่บ้านเหล่านั้น แล้วหันมาพูดกับข้าพเจ้าอย่างภาคภูมิใจว่า “เฮือนไตรำ บ่ใช่เฮือนเวียด” แล้วชี้ไปที่บ้านก่ออิฐถือปูนใกล้ๆกันหลังหนึ่ง ซึ่งปลูกเป็นห้องแถวชั้นเดียวอยู่ติดพื้นดิน เพื่อให้เห็นความแตกต่าง
หลังจากนั้นก็ชี้นิ้วเข้าหาตัวเอง พูดว่า “ไตรำ ไตรำ” เป็นการย้ำถึงเอกลักษณ์อีกครั้ง
ข้าพเจ้าจึงชี้นิ้วเข้าหาตัวเองบ้าง
แล้วพูดแบบด้นเองสดๆออกไปว่า “ข่อยเป็นไตน่อย จั๊กเมืองบางกอก หมู่เฮาสิเป็นอ้ายน้องกัน”
พร้อมกับชี้นิ้วกลับไปกลับมา
จากนั้นไตรำกับไตน่อยก็คุยกันต่ออย่างสมานฉันท์
โดยมีไตน่อยอีกคนหนึ่ง คือคุณจ่าน้อม มาผสมโรงร่วมวงคุยด้วยอย่างสนุกสนาน
ชาวไทดำนี้ ในอดีตกาลเคยถูกอพยพออกจากอาณาจักรสิบสองจุไท
ที่มีเมืองเดียนเบียนฟู หรือในประวัติศาสตร์ไทยเรียกว่า เมืองแถง เป็นศูนย์กลาง ลงมาอยู่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก
โดยกลุ่มใหญ่ที่สุด ยังคงตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี และเป็นที่รู้จักกันในนามว่า
ลาวโซ่ง หรือ ไทยทรงดำ จนทุกวันนี้
นอกจากนั้น ยังมีบางกลุ่มกระจัดกระจายกันไปอยู่ในจังหวัดอื่นๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางและภาคอีสานของไทยอีกไม่น้อย
ต่อมา ชาวไทดำยังได้ย้ายออกจากดินแดนของตน
ไปตั้งรกรากอยู่ในหลายแขวงทางภาคเหนือของลาว อีกหลายครั้งหลายหนด้วย
จนเรื่องราวการย้ายถิ่นฐานของชาวไทดำ จุดประกายให้นักประพันธ์เพลงผู้หนึ่ง แต่งเพลงชื่อว่า “ไทยดำรำพัน” ขึ้น
เพลง “ไทยดำรำพัน” นี้
มีความไพเราะ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักฟังเพลงชาวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2514
ข้าพเจ้ายังคงจำทั้งทำนองเพลงทั้งหมด
และเนื้อร้องบางส่วนได้จนทุกวันนี้
24. เดียนเบียนฟู
รถโดยสารนำพวกเรามาถึงสถานีขนส่ง
ใจกลางเมืองเดียนเบียนฟู เมื่อเวลาบ่ายสามโมง ช้ากว่าที่เราคาดการณ์ไว้ไปชั่วโมงหนึ่ง
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะรถแวะจอดส่งผู้โดยสารทุกคนถึงที่บ้าน
นั่นคือ ไม่ว่าบ้านของผู้โดยสารจะอยู่ถนนใด ตรอกซอกซอยใด รถก็จะแล่นไปจอดส่งถึงหน้าบ้าน
ให้ทุกคนสามารถขนของทั้งหมดลงที่บ้านได้
ซึ่งแต่ละบ้านกว่าจะขนลงหมด ก็ใช้เวลาร่วม
20 นาที
โชคดีที่ชาวไทดำหลายคน
รวมกลุ่มลงจากรถที่บ้านเดียวกัน รถจึงแวะจอดเพียงสามบ้าน
หาไม่แล้ว
คงต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงกว่าเราจะมาถึงสถานีรถโดยสาร
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ รู้จักเดียนเบียนฟูในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชของเวียดนาม
จากประเทศเจ้าอาณานิคม ด้วยการทำสงครามขับไล่ครั้งสุดท้ายอย่างดุเดือดกันที่นี่
เมื่อปี พ.ศ.2497
น้อยคนนักที่จะทราบว่า หกสิบกว่าปีก่อนหน้านั้น
กองทัพสยามที่มีท่านเจ้าคุณสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่ เคยยกมาถึงที่นี่ เพื่อขับไล่และกำจัดอิทธิพลของพวกฮ่อในดินแดนสิบสองจุไทนี้ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
และยังตั้งมั่นประชันหน้ากับกองทัพของฝรั่งมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมที่กำลังรุกคืบเข้ามา
อยู่ที่เมืองแถงแห่งนี้ด้วย
น่าเสียดายที่ยังไม่พบบันทึก
หรือร่องรอยหลักฐานจากเหตุการณ์ครั้งนั้นหลงเหลืออยู่ให้เราทราบว่า
ตำแหน่งที่ตั้งค่ายและการเผชิญหน้าในครั้งนั้น อยู่ที่บริเวณใด
ที่สถานีรถโดยสาร
คณะเดินทางพยายามติดต่อหารถแท็กซี่ ไว้เตรียมพาพวกเรากลับไปส่งที่ชายแดนตอนเย็น
พบว่า เหลืออยู่เพียงคันเดียว และจะคิดราคาที่ 500,000 ด่อง
ในขณะที่ป้ายบอกอัตราราคามาตรฐานที่แสดงไว้หน้าสถานีนั้น เมื่อคำนวนตามระยะทางแล้วไม่น่าจะเกิน
250,000 ด่อง
การเจรจาเป็นไปด้วยความยากลำบาก
เพราะต่างแทบจะไม่เข้าใจภาษาของกันและกัน และการใช้ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ผล
พวกเราจึงตัดสินใจว่า
ยังไม่ต้องรีบก็ได้ ออกไปเดินเล่นกันก่อน หาดูว่าพอมีที่พักบ้างไหม
หากยุ่งยากนัก ก็นอนที่นี่เสียคืนหนึ่ง
พรุ่งนี้ค่อยกลับก็ได้
คงเป็นเพราะวันนี้เป็นวันอาทิตย์ และเป็นเวลาบ่ายมากแล้ว
รถราจึงมีให้หาได้ไม่มากนัก
เดินออกจากสถานีรถไปได้แยกเดียว
แท็กซี่คันนั้นก็วิ่งตามมา คนขับจอดรถลงเดินเข้ามาหาพวกเรา ยื่นกระดาษให้หนึ่งแผ่น
มีข้อความเขียนว่า 420,000
คุณจ่าน้อมต่อรองไปว่า ราคานี้
ให้พาแวะเที่ยว ดูตามสถานที่สำคัญก่อนด้วยได้ไหม
แต่การเจรจาไม่คืบหน้าเพราะยังมีปัญหาเรื่องภาษา
แต่การเจรจาไม่คืบหน้าเพราะยังมีปัญหาเรื่องภาษา
ผลสุดท้าย ต้องใช้วิธีเขียนลายแทงลงบนกระดาษ
คล้ายๆกับแผนที่นำทางในการแข่งรถแบบแรลลี่ ว่าเราอยากจะไปถึงที่ไหนบ้าง เวลาใดบ้าง
แต่ละที่ใช้เวลาเท่าใด โดยให้กลับไปถึงชายแดนเวลาห้าโมงเย็น
วิธีนี้ได้ผลระดับหนึ่ง
แต่ยังไปไม่ได้ครบทุกที่ที่อยากไป เพราะต่างคนต่างไม่เข้าใจ
ว่าชื่อสถานที่นั้นคือที่ไหนแน่
ผลสุดท้ายเลยไปได้แห่งเดียว คือที่อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะ
ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาสูง มองลงมาเห็นทัศนียภาพของเมืองได้โดยรอบ
เดียนเบียนฟูเป็นเมืองที่มีทิวทัศน์สวยงามยิ่ง
ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง มีแม่น้ำผ่านใจกลางเมือง บ้านเมืองดูค่อนข้างเป็นระเบียบ
รอบนอกเมืองเป็นทุ่งเกษตรกรรมกว้างใหญ่ ดินเป็นสีดำอุดม มองเห็นสุดลูกหูลูกตาไปจนจดชายเขา
ถนนหนทางในเมืองหลายสายกว้างขวางและสะอาดเรียบร้อย ตึกรามหลายแห่งมีกลิ่นอายของความเป็นยุโรป
ระหว่างที่กำลังเดินชมบริเวณ และเก็บภาพรอบๆอนุสาวรีย์กันนั้น มีหนุ่มสาวชาวเวียดนามคู่หนึ่ง มานั่งเล่นและถ่ายรูปกันอยู่ และดูจะให้ความสนใจกับพวกเราพอสมควร
หลังจากจับตาดูพฤติกรรมของพวกเราอยู่ไม่นานนัก
สาวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้ม ในชุดกางเกงสีเขียวอ่อน เสื้อคอเต่าสีเหลืองสด
สวมเสื้อแจ็คเก็ตกันหนาวสีส้ม และรองเท้าผ้าใบสีขาว ก็เดินตรงเข้ามามาพวกเราอย่างมั่นใจ
แล้วถามเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงไพเราะว่า May I borrow your hat? Just to take a photograph, please?
หมวกใบที่เธอหมายตาอยู่นั้น
เป็นหมวกทรงคาวบอย และเมื่อได้รับไปแล้ว สาวน้อยผู้นั้นก็สวมหมวก ทำท่าทางต่างๆกัน
ให้แฟนหนุ่มถ่ายรูปไว้อย่างภาคภูมิใจหลายรูป
เป็นที่น่าเอ็นดูสำหรับพวกเราเป็นอย่างยิ่ง จนอดเก็บภาพเธอไว้ด้วยไม่ได้
เพียงเท่านี้ ก็ถือเป็นเสน่ห์อันน่าประทับใจยิ่งของเดียนเบียนฟู
แม้จะเป็นการเดินทางมาเยือนเพียงระยะเวลาสั้นๆ
แต่เมื่อเรากลับขึ้นรถแท็กซี่คันเดิม
เพื่อจะออกนอกเมืองกลับสู่ชายแดน ความประทับใจนั้นก็ละลายหายไปทันที
เหลือแต่เพียงความตื่นเต้นระทึกขวัญอย่างเดียว
เพราะแท็กซี่คันนั้น พอหลุดพ้นแยกไฟแดงสุดท้ายแล้ว ก็ตะลุยขับแบบรถแข่ง และบีบแตรไปด้วยตลอดทาง
ข้าพเจ้ามองออกไปข้างหน้า
รู้สึกเหมือนดูรายการแข่งรถ ที่เดี๋ยวนี้ชอบตั้งกล้องถ่ายทำวิดีโอไว้ข้างหลังคนขับ
ระหว่างทาง
มีการตัดต้นไม้ใหญ่ริมถนน ล้มลงมากลางถนนขวางการจราจร ทำให้ต้องจอดรอเสียเวลาไปไม่น้อย
แต่แท็กซี่มหากาฬคันนั้น
ก็ยังสามารถพาคณะเดินทาง กลับไปถึงชายแดนอย่างปลอดภัยได้ ทันเวลาห้าโมงเย็นพอดี
ส่วนด่านฝั่งลาวนั้นไม่มีปัญหา
เพราะปิดเวลาทุ่มครึ่ง
ถึงแม้ว่าจะเดินกลับไปถึงด่านฝั่งลาวได้ตั้งแต่ก่อนหกโมง แต่พระอาทิตย์ก็กำลังค่อยๆหายลับไปจากขอบฟ้า พวกเราจึงต้องกรอกเอกสารต่างๆในความมืด โดยอาศัยแสงสว่างจากไฟฉาย
และได้ทราบจากเจ้าหน้าของลาว
ซึ่งพกไฟฉายติดตัวทุกด้วยคนว่า ที่ด่านแห่งนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
25. ด่านสบฮุน -
เมืองขวา
เมื่อตรวจตราความเรียบร้อยของยานพาหนะทั้งสองคันที่จอดทิ้งไว้
พบว่าเรียบร้อยดี และไม่มีใครมาเขียนฝากรักทิ้งไว้ดังเช่นที่หนองเขียวแล้ว
คณะเดินทางจึงออกจากด่านสบฮุน หลังเวลาหกโมงเย็นเพียงเล็กน้อย
การเดินทางเที่ยวกลับในความมืดนี้
ไม่พบรถคันอื่นบนถนนอีกเลย
แล้วเราก็กลับมาถึงเมืองขวา ทันลงแพเที่ยวสุดท้ายที่จะข้ามแม่น้ำอู
เมื่อเวลาสองทุ่มครึ่งพอดี
เมืองขวาที่เห็นอยู่ต่อหน้า
บัดนี้สว่างไสวไปด้วยแสงไฟพราวพร่างไปทั้งเมือง เมื่อมองจากอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำแล้ว
เห็นเงาระยิบระยับทอดอยู่เต็มท้องน้ำ เป็นภาพที่ดูมีชีวิตชีวาและโรแมนติก
ต่างไปจากเมื่อคืนนี้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
คณะเดินทางนำรถลงจอดบนแพ
และเตรียมตัวจะจ่ายค่าบริการ แต่เจ้าของแพแสดงอาการอิดออด ไม่ยอมยืนราคาเดิม
อ้างว่าค่ำแล้ว และอยู่นอกเวลาเปิดให้บริการตามปกติ
พวกเราทราบดีว่า
สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้ต่อรองได้มากนัก จึงพยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการเจรจาขอจ่ายเป็นเงินด่อง
ที่เราเหลือติดตัวกลับมาทั้งหมดเป็นจำนวน 200,000 ด่อง
และคงไม่มีโอกาสได้ใช้ที่อื่นอีก
ทั้งสองฝ่ายต่างระดมกดเครื่องคิดเลขกันอย่างอุตลุด
เพื่อคำนวณว่ากำไรขาดทุนเท่าไรแน่ ราคามาตรฐานนั้นอยู่ที่ 80,000 กีบ
ฝ่ายเราคำนวณแล้วพบว่า
ต้องจ่ายเพิ่มไปประมาณ 170 บาทไทย
ส่วนฝ่ายเจ้าของแพ
หลังจากกดเครื่องคิดเลขของตนจนพอใจแล้ว ก็ยืนยันกับพวกเราอย่างค่อนข้างขึงขังว่า
สองแสนด่องไม่ได้หรอก ต้องมากกว่านั้น
แต่ช้าไปเสียแล้ว
เพราะคนขับเรือจูงแพ ซึ่งคงทั้งไม่ได้ยิน และไม่มีส่วนได้เสียอะไรกับผลการเจรจาครั้งนี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างแข็งขัน
ด้วยการรีบออกเรือ นำแพเที่ยวสุดท้ายเข้าเทียบท่าอีกฝั่งหนึ่งอย่างไม่ชักช้า ผูกหลักโดยเรียบร้อย
เสร็จแล้วดับเครื่องกระโดดลงจากเรือ
เดินขึ้นฝั่งเลิกงานกลับบ้านไปพักผ่อน
เจ้าของแพจึงได้แต่เพียงเกาหัวแกร็กๆ
แบมือรับเงินสองแสนด่องจากพวกเราไปแต่โดยดี
และไม่ลืมที่จะรีบนับให้แน่ใจว่าครบถ้วน
ก่อนพวกเราจะขึ้นฝั่งลับสายตาไป
26. อุดมไชย
คณะเดินทางกลับไปเก็บของ
ที่ฝากไว้ที่เรือนพักแก้วพิลา 2 และขอน้ำร้อนมาเพื่อชงกาแฟ และปรุงบะหมี่สำเร็จรูปรับประทาน
หลังจากนึกขึ้นได้ว่า ตั้งแต่มื้อเช้ามา ยังไม่ได้รับประทานอะไรอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอีกเลย
นอกจากพวกของขบเคี้ยวเล็กน้อยที่นำติดตัวไป
ระหว่างรับประทานบะหมี่
ก็พลอยได้นั่งดูรายการโทรทัศน์ของช่อง 9 อสมท. ที่เจ้าของเรือนพักกำลังเปิดชมอยู่ด้วยอย่างเพลิดเพลิน
พวกเราอำลาเมืองขวาไปเมื่อเกือบสามทุ่มครึ่ง
ข้าพเจ้าเปลี่ยนไปทำหน้าที่ขับรถตามแทนจ่าน้อม โดยท่านท้าวไกรสรยังคงขับรถนำขบวนตามปกติ
ตั้งเข็มมุ่งสู่เมืองอุดมไชย เพื่อจะพักค้างคืนสำหรับวันนี้
รถแล่นผ่านด่านเก็บค่าธรรมเนียมแห่งเดิม
ซึ่งคราวนี้ยกไม้กั้นทิ้งไว้ให้ผ่านไปได้ โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม
ข้าพเจ้าคาดเดาเอาเองว่า
อาจเป็นเพราะว่าวันนี้วันอาทิตย์
ด้วยความคุ้นเคยกับทางเส้นเดิม
บวกกับผิวทางที่ถือว่าดี และถนนที่ถือว่าว่าง เราจึงทำความเร็วกันอย่างเต็มที่
ลอยข้ามเนินและสาดโค้งตามกันไปอย่างสนุกสนาน
จวนเจียนเกือบหลุดโค้งไปก็ครั้งหนึ่ง
มีหลายช่วงใช้ความเร็วได้เกินกว่า 90 กม./ชม. สามารถไปถึงเมืองอุดมไชยได้ก่อนเวลาห้าทุ่มเล็กน้อย
หลังจากตระเวนหาที่พัก
ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าออกไปทางสถานเริงรมย์ มากกว่าสถานที่พักเหนื่อยจากการเดินทางแล้ว
เราจึงเลือกเข้าพักที่ “เรือนพักลิดทะวิไช” ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ใกล้ใจกลางเมือง
เป็นตึกสองชั้นสองคูหา ภายในสะอาดสะอ้าน และสะดวกสบายกว่าที่ผ่านมาทุกแห่งตั้งแต่ออกจากโพนสะวัน
ราคาค่าห้องอยู่ที่ 250 บาท
วันจันทร์ที่ 10
ธันวาคม 2550 อากาศยามเช้าขมุกขมัว หมอกลงค่อนข้างจัด อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ
16 องศา
ท่านท้าวไกรสรตื่นขึ้นมาล้างรถแต่เช้า และชวนขึ้นไปเดินเที่ยวดูเจดีย์แห่งหนึ่ง
ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาฝั่งตรงข้ามกับที่พัก เพียงข้ามถนนเดินเข้าซอยไปอีกนิดก็ถึงบันไดทางขึ้น
คณะเดินทางไม่พบว่ามีป้ายชื่อวัด
มีเพียงป้ายประกาศตั้งอยู่ตรงปากซอย
เขียนว่า “โคงกานพัดทะนาพะทาดมิ่งเมือง” และเชิญชวน
“ท่านที่มีใจสัดทา” เข้าร่วมเป็นกรรมการโครงการ พร้อมรายละเอียดของโครงการคร่าวๆ
ว่าจะทำอะไรบ้าง
เมื่อขึ้นบันไดไปจนถึงเจดีย์พระธาตุบนยอดเขา
ซึ่งไม่ได้สูงชันนัก จึงพบว่าฝั่งตรงข้าม ก็มีบันไดทางขึ้นเขา
เลียบข้างเรือนพักลิดทะวิไชขึ้นไปเหมือนกัน
แต่ด้วยหมอกที่ลงจัด ทำให้ไม่สามารถมองเห็นยอดเขาฝั่งตรงข้ามได้
จากนั้นจึงกลับลงมาเพื่อเช็คออกจากที่พัก
เจ้าของเรือนพักได้บอกทางไปยังร้านเฝอ ที่ว่ากันว่ารสชาติดีที่สุดในเมืองนี้
และอยู่ห่างจากเรือนพักไปไม่ไกล
ร้านเฝอที่ว่านี้ เป็นเพิงสองคูหาเล็กๆ ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามของถนนสายเดียวกัน ย้อนกลับไปตรงใกล้ๆทางแยกที่จะไปหนองเขียว
แต่เฝอรสชาติเข้มข้นใช้ได้ทีเดียว
แถมยังมีกาแฟแบบชงใส่แก้ว มีนมข้นนอนอยู่ข้างล่าง ให้ได้ระลึกถึงความหลังด้วย
เมืองอุดมไชยเป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่
หลังจากถูกทำลายราบเรียบไปเมื่อครั้งสงครามปฏิวัติ เช่นเดียวกับเมืองโพนสะวัน
แต่เดิมมีชื่อว่า “เมืองไชย” เฉยๆ แต่หลังจากสงครามยุติแล้ว รัฐบาลใหม่ของ สปป. ลาวได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น
“อุดมไชย” เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ
ด้วยเส้นทางการคมนาคม และตำแหน่งที่ตั้งของเมือง
ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนจีนเพียง 100 กิโลเมตร ทำให้อุดมไชยเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญทางภาคเหนือ
บรรยากาศทั่วไปดูค่อนข้างเป็นเมืองการค้า
มากกว่าเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติหรือวัฒนธรรม เช่นที่ผ่านมา
คณะเดินทางได้เห็นยานพาหนะติดป้ายทะเบียนจีน
วิ่งอยู่ตามท้องถนนหลายคัน และเมื่อแวะเดินชมตลาด ซึ่งใหญ่โตและคึกคักทีเดียว ก็ได้เห็นสินค้าจากประเทศจีนวางขายอยู่มากมาย
พ่อค้าแม่ค้าหลายคนก็พูดภาษาลาวแต่สำเนียงเป็นจีนด้วย
ที่ริมถนนฝั่งตรงกันข้ามกับตลาด
มีสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวตั้งอยู่ ดูค่อนข้างทันสมัยและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
มีทั้งภาษาลาวและภาษาอังกฤษ
และยังแจกสติกเกอร์สำหรับติดท้ายรถ ที่ออกแบบลวดลายสีสันได้สวยงามไม่แพ้ที่เคยเห็นในอเมริกา
บนสติกเกอร์มีข้อความเขียนไว้ด้วยว่า
“อุดมไช ใจกางพากเหนือของลาว”
27. บ่อเต่น
และชายแดนจีน
คณะเดินทางแวะเติมน้ำมันที่ปั๊ม
ปตท. แห่งเดิม ก่อนออกจากอุดมไชยเมื่อเวลาใกล้จะสิบเอ็ดโมงเช้า
ท้องฟ้าเริ่มปลอดโปร่งแจ่มใส อากาศเย็นสบายคลายความหนาว
จุดมุ่งหมายของการเดินทางในวันนี้
คือเตรียมตัวข้ามแม่น้ำโขงกลับสู่เมืองไทย จากเมืองห้วยทรายทางฝั่งลาว
และอำเภอเชียงของทางฝั่งไทย
โดยจะพักค้างคืนที่ห้วยทรายในคืนนี้ แล้วลงแพขนานยนต์ไปขึ้นที่เชียงของในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
ท่านท้าวไกรสรและคุณจ่าน้อม
เคยแอบมาสำรวจเส้นทางนี้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีกลาย เห็นว่ามีเวลาเพียงพอ
ที่จะแวะไปดูความคืบหน้าของการพัฒนาเมืองชายแดนบ่อเต่น ซึ่งอยู่สุดเส้นทางของ ท.13
ติดกับประเทศจีน อีกครั้งหนึ่ง
และหากโอกาสและโชคอำนวย
ก็จะถือโอกาสข้ามไปเหยียบจีนแผ่นดินใหญ่เสียหน่อย
เช่นเดียวกับที่เพิ่งข้ามไปเหยียบแผ่นดินเวียดนามมาหยกๆเมื่อวาน
จากอุดมไชยไปบ่อเต่น
ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ครึ่งแรกเป็นทางบนภูเขาดังเช่นที่ผ่านมา
จากนั้นจึงลดระดับลงสู่ที่ราบหุบเขา ผ่านเมืองนาโม ข้ามเข้าแขวงหลวงน้ำทา
และเมื่อพบทางแยกไปเส้นทาง ท.13B ต้องเลี้ยวขวาเพื่อคงเส้นทาง
ท.13 ไว้ อีกเพียงสิบกว่ากิโลเมตรก็ถึงเมืองบ่อเต่น
ทางการของลาวและจีน กำลังพัฒนาบ่อเต่นให้เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ
รองรับเส้นทางขนส่งจากจีนผ่านลาวเข้าสู่ไทย ตามโครงการพัฒนาเส้นทางขนส่ง และถนนเครือข่ายของภูมิภาคอินโดจีน
สาย R3A
เมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
การเดินทางจากเมืองคุนหมิงในแคว้นยูนนานของจีน ไปสู่จังหวัดเชียงรายของไทยที่อำเภอเชียงของ
จะใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง
คณะเดินทางไปถึงด่านตรวจชายแดนเมื่อเวลาบ่ายโมงครึ่ง
ระหว่างทางได้เห็นอาคารพาณิชย์ คลังสินค้า ที่อยู่อาศัย โรงแรม
และที่ขาดไม่ได้คือคาสิโน ที่กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง บ้างก็ใกล้แล้วเสร็จ
ผูดขึ้นสองข้างทางมากมาย
มีรถบรรทุก รถทัวร์จากฝั่งจีน และนักท่องเที่ยวให้เห็นค่อนข้างหนาตา
ที่ตู้ยามรักษาการณ์ประจำด่าน
ไม่มีไม้กั้น มีเพียงป้ายเขียนว่า STOP ตั้งไว้กลางถนน
ท่านท้าวไกรสรพยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่
อาศัยความรู้ด้านภูมิประเทศ ที่เคยสำรวจไว้เมื่อปีก่อนก่อน
ขอนำรถผ่านเข้าไปจอดอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมีที่จอดรถกว้างขวางอยู่ห่างออกไปเพียงนิดเดียว
ก่อนจะเดินกลับมาทำเอกสารขาออกและเสียค่าธรรมเนียม
แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
หลังจากผ่านพิธีการแล้ว
คณะเดินทางได้ว่าจ้างรถกะป๊อ
ที่มีวิ่งรับส่งผู้โดยสารอยู่ทั่วไประหว่างชายแดนสองประเทศ ไปส่งที่หน้าชายแดนจีน
ถนนยังคงอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเพื่อขยายผิวทาง เตรียมรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มขึ้น
ที่ด่านชายแดนจีน
เจ้าหน้าที่ ตม. หนุ่ม ท่าทางทันสมัยและพูดภาษาอังกฤษได้ดี
แจ้งให้เราทราบอย่างสุภาพว่า มิสามารถออกวีซ่าที่ชายแดนให้กับพวกเราได้ และให้คำแนะนำแก่พวกเราว่า
จะสามารถกลับไปทำวีซ่าได้ที่ไหนอย่างไรบ้าง
ซึ่งพวกเราพิจารณาแล้วเห็นว่า
คงไม่สามารถทำได้ทันในครั้งนี้
เจ้าหน้าที่ผู้มีอัชฌาศัย
ยังได้พาเราเดินชมบริเวณหน้าด่าน
และแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียงให้เราทราบด้วย ก่อนจะขอตัวกลับไปทำงานตามหน้าที่ต่อไป
คณะเดินทางจึงได้แต่เพียงบันทึกภาพจากชายแดนไว้เป็นที่ระลึก
และเมื่อมองเข้าไปทางฝั่งจีน ก็ได้เห็นถนนหนทางกว้างขวาง มีเกาะกลางถนนปลูกต้นไม้ดอกไม้ ทางเดินสองข้างทางปลูกต้นไม้ใหญ่เรียงเป็นแถว
และเมื่อมองเข้าไปทางฝั่งจีน ก็ได้เห็นถนนหนทางกว้างขวาง มีเกาะกลางถนนปลูกต้นไม้ดอกไม้ ทางเดินสองข้างทางปลูกต้นไม้ใหญ่เรียงเป็นแถว
มีอาคารหลังคาทรงจีนหลายหลัง
คาดว่าน่าจะเป็นอาคารร้านค้า เรียงรายอยู่อย่างเป็นระเบียบ
ขากลับมาที่หน้าด่านฝั่งลาว
มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน ขับรถตู้คันใหญ่ติดป้ายทะเบียนเยอรมัน เดินทางมาแต่เพียงผู้เดียว
เข้ามาสอบถามพวกเราถึงสถานที่และขั้นตอนเข้าเมืองต่างๆของ สปป. ลาว
ก่อนที่จะออกเดินทางต่อไป
เรายังได้พบหลักกิโลเมตรแรกของ ท.13 ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวที่ริมถนนด้วย
มีตัวอักษรเขียนไว้ว่า
“13 N นะคอนหลวงเวียงจัน
VIANTIANE
CAPITAL 678KM”
28. หลวงน้ำทา – ห้วยทราย
คณะเดินทางออกจากบ่อเต่นเมื่อเวลาบ่ายสามโมง
โดยยังมิได้รับประทานมื้อกลางวัน
ตั้งใจว่าจะหยุดแวะพักอีกทีที่เมืองหลวงน้ำทา เพื่อรับประทานอาหารและเติมน้ำมันรถ
ก่อนจะไปต่อให้ถึงเมืองห้วยทราย
การเดินทางในช่วงสุดท้ายนี้
เริ่มจากกิโลเมตรแรกของ ท.13 มุ่งลงใต้ จากนั้นตัดเข้าสู่ ท.13B ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงเมืองหลวงน้ำทา
จากนั้นจะเป็น ท.3 ต่อไปจนถึงเมืองเวียงภูคา ก่อนจะข้ามเข้าสู่แขวงบ่อแก้ว
ไปสิ้นสุดที่เมืองห้วยทรายซึ่งตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำโขง
เส้นทางทั้งหมดนี้กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนสาย
R3A ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้
และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2551
ถนนทั้งสายถูกปรับปรุง
ด้วยการขยายความกว้างของช่องจราจรทั้งสองช่อง มีไหล่ทางราดยางเสมอระดับช่องจราจร ตีเส้นและติดตั้งเครื่องหมายต่างๆ
ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเพิ่มทางวิ่งสำหรับรถบรรทุกหนักหรือรถความเร็วต่ำกว่า ในช่วงไต่เขาหรือขึ้นเนินสูงชัน
ด้วยระยะทางเพียง 60
กิโลเมตร คณะเดินทางมาถึงเมืองหลวงน้ำทาก่อนสี่โมงเย็นเล็กน้อย
ลงนั่งรับประทานอาหารอย่างสบายๆที่ร้าน
“บานานา” ซึ่งมีเมนูภาษาอังกฤษ และมีอาหารฝรั่งด้วย ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสี่แยก
ที่เป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจ
เมืองหลวงน้ำทาเป็นอีกเมืองหนึ่ง
ที่เคยราบเรียบไปตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามปฏิวัติ และถูกสร้างขึ้นใหม่
ทุกวันนี้กลายเป็นประตูหน้าด่านสู่อุทยานแห่งชาติหลวงน้ำทา
ที่นักท่องเที่ยวผู้นิยมธรรมชาติและกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตก
นิยมใช้เป็นที่พักเพื่อเตรียมตัวและเสบียงกันมาก
เราเติมน้ำมันถังสุดท้ายในลาวกันที่นี่
ก่อนออกเดินทางต่อเมื่อเวลาห้าโมงเศษ
ระยะทาง 170
กิโลเมตรสุดท้ายในประเทศลาว รอเราอยู่ข้างหน้า
เส้นทางยังคงใหม่เอี่ยมเป็นส่วนใหญ่
มีระยะสั้นๆเป็นบางช่วงบ้างที่ยังสร้างไม่เสร็จ
เวลาเย็นเช่นนี้ ไม่ค่อยมีรถอื่นวิ่งให้เห็นนัก ข้าพเจ้าสังเกตเห็นรถเก๋งติดป้ายทะเบียนไทยวิ่งสวนมาบ้าง
นับแล้วได้ 3 คัน
สองข้างทางมีหมู่บ้านชาวเขาตั้งอยู่เป็นระยะๆ
และอยู่ห่างจากถนนในระยะปลอดภัย ต่างไปจากทางรุ่นเก่าเส้นอื่นๆที่ผ่านมา
ซึ่งบางบ้านแทบจะอยู่ติดกับถนน และชาวบ้านก็ใช้ชีวิตประจำวันอยู่บนนั้น
คณะเดินทางได้จอดรถข้างทางเพื่อลงถ่ายรูปทิวทัศน์ยามอาทิตย์อัสดง
และแบ่งขนมให้เด็กๆที่มายืนมุงดูพวกเราอย่างสนใจ
ปรากฏว่า กลายเป็นการสร้างความโกลาหลครั้งใหญ่
เมื่อเด็กๆเหล่านั้นต่างเข้ามายื้อแย่งขนมกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ต่างไปจากเด็กๆในหมู่บ้านอื่นที่เคยผ่านมา
พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าหลังจากเลยเมืองเวียงภูคามาได้ไม่นาน
เส้นทางพาเราเข้าสู่แขวงบ่อแก้วในความมืด
สภาพถนนที่ว่างเปล่าและไม่คดเคี้ยวมากนัก
ทำให้เราใช้ความเร็วกันเต็มที่ บางช่วงสามารถวิ่งได้เร็วเกินกว่า 100 กม./ชม.
อย่างสบายๆ
แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์หวาดเสียวขึ้นจนได้
เมื่อจู่ๆ แสงไฟจากหน้ารถส่องให้เห็นร่างของชายคนหนึ่ง โผล่ขึ้นมาจากความมืด นอนนิ่งขวางถนนอยู่ในช่องทางที่เราขับอยู่
โชคดีที่ขณะนั้นไม่ได้ใช้ความเร็วสูง จึงสามารถหักหลบได้ทันอย่างปลอดภัย
ขณะนั้นเป็นเวลาเพียงหนึ่งทุ่มครึ่ง
สองข้างทางพอเห็นว่ามีแสงไฟจากอาคารบ้านเรือนอยู่ห่างๆ
แต่เราไม่กล้าที่จะถอยรถกลับไปดูให้เห็นชัดๆว่า ร่างนั้นเป็นศพ
หรือคนเมามานอนหลับอยู่ หรือถนนว่างเสียจนใครๆก็มานอนเล่นได้
คิดอยู่แต่เพียงว่า
ไม่ทับลงไปก็โชคดีมากแล้ว
แต่ที่แน่ๆคือ ไม่ใช่ภาพลวงตา
เพราะทุกคนในรถทั้งสองคัน ต่างมองเห็นเหมือนกัน
โดยข้าพเจ้าซึ่งประจำอยู่ในรถคันข้างหน้า ได้แจ้งทางวิทยุให้คุณจ่าน้อม
ซึ่งทิ้งระยะห่างอยู่พอสมควรให้ทราบก่อน
และไม่อยากจะนึกเลยว่า
มีรถอื่นวิ่งตามหลังเรามาอีกหรือไม่ หรืออาจมีผู้ไม่หวังดี เตรียมซุ่มต้อนรับพวกเราอยู่หรือไม่
หากถอยกลับไปดู
หลังจากผ่านไปอีกระยะหนึ่ง
เส้นทางก็พาเราขึ้นสู่ยอดเขาสูงลูกสุดท้าย ก่อนจะถึงเมืองห้วยทราย
ทิวทัศน์รอบข้างเปิดโล่ง
ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีแสงไฟอื่นๆให้เห็น
คณะเดินทางจอดรถเข้าข้างทางอีกครั้งหนึ่ง
ดับเครื่องยนต์ ปิดไฟประจำรถทุกดวงลง ลงจากรถไปยืนชมความงามของหมู่ดวงดารา
ที่เกลื่อนกลาดดาษดาอยู่กลางเวหน รายล้อมพวกเราอยู่รอบด้าน มองเห็นไปได้ไกลจนสุดขอบฟ้า
ท่ามกลางความเงียบสงัด ไม่ได้ยินเสียงอะไรใดๆทั้งสิ้น
อากาศกลางแจ้งในช่วงหัวค่ำของฤดูหนาวเช่นนี้
ยังคงเย็นเฉียบไม่ต่างจากคืนก่อนๆ แต่พวกเราแทบจะไม่ได้สนใจ ต่างยืนดูภาพความระยิบระยับอันงดงามของท้องฟ้า
ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ต่อหน้า ณ ราตรีนี้กันอย่างเพลิดเพลิน
ลืมความรู้สึกหวาดเสียว
ที่เพิ่งได้สัมผัสไปเมื่อไม่ถึงชั่วโมงที่ผ่านมาจนสิ้น
29. ห้วยทราย –
เชียงของ
ในที่สุด คณะเดินทางก็มาถึงห้วยทรายเมื่อเวลาสามทุ่มเศษ
และเข้าพักที่ “เรือนพักพอนวิจิด” ซึ่งตั้งอยู่บนตลิ่งแม่น้ำโขง ไม่ห่างจากท่าเทียบแพขนานยนต์
ด้านหน้ามีร้านอาหารปลูกเป็นศาลาริมน้ำ
มองไปฝั่งตรงข้ามเห็นแสงไฟจากอำเภอเชียงของอยู่ลิบๆ
แม้ครัวจะปิดไปตั้งแต่สองทุ่มครึ่ง
แต่เจ้าของร้านก็ขันอาสาที่จะทำกับข้าวมื้อค่ำให้พวกเรารับประทานกันอย่างเต็มอิ่ม
พวกเราถือโอกาสฉลองคืนสุดท้ายใน
สปป ลาว ด้วยการสั่งเบียร์ลาวมาดื่มกัน นั่งจิบอย่างสบายๆไม่เร่งรีบ พลางชมวิวแม่น้ำโขงยามค่ำคืน
เช้าวันรุ่งขึ้น
อังคารที่ 11 ธันวาคม 2550 คณะเดินทางรับประทานอาหารเช้าแบบฝรั่ง มีไข่ดาว ไส้กรอก
หมูแฮม เนย แยม กับขนมปังแบบฝรั่งเศส พร้อมชากาแฟครบชุด แล้วเตรียมตัวอำลาแผ่นดินลาว
เพื่อข้ามโขงกลับเมืองไทย
ที่ทำการ ตม.
มิได้อยู่ที่ท่าข้ามแพขนานยนต์ แต่อยู่ที่ท่าเรือโดยสารข้ามฝาก
หากมาจากฝั่งห้วยทราย
จะต้องใช้ถนนเส้นที่ขนานกับแม่น้ำ เข้าสู่ใจกลางเมืองและย่านการค้าที่ค่อนข้างจอแจ
จากนั้นจะมีซอยแยกลงไปที่ท่าน้ำอีกทีหนึ่ง
ฝั่งตรงข้ามกับซอยดังกล่าว
มีทางขึ้นวัด “จอมเขา มะนีลัด” ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา
มีบันไดทางขึ้นประมาณร้อยกว่าขั้น สองข้างบันไดก่อเป็นกำแพงปูน ปั้นราวบันไดเป็นตัวพญานาค
หลังจากประทับตราขาออกเรียบร้อยเมื่อเวลาแปดโมงสี่สิบห้าแล้ว
คุณจ่าน้อมได้ถือโอกาสแวะสั่งซื้อเบียร์ลาวสองลัง
จากเอเย่นต์เหล้าซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทางขึ้นวัด ติดรถเพื่อนำกลับมาสต็อคไว้ที่บ้าน
และแจกจ่ายแก่บรรดาญาติสนิทมิตรสหาย
เสร็จแล้วคณะเดินทางจึงย้อนกลับไปที่ท่าแพขนานยนต์
เพื่อทำพิธีการศุลกากรขาออก
และจองตั๋วแพขนานยนต์ หรือในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เรือบัก”
ในราคาคันละ 1,000 บาท
แพซึ่งเพิ่งข้ามกลับมาจากฝั่งไทย
กำลังสาละวนขนของลงกันอยู่ที่ริมท่า และใช้เวลากันอยู่นานพอสมควร กว่าเราจะสามารถนำรถทั้งสองคันลงแพได้
ก็เป็นเวลาเกือบสิบโมงแล้ว
ท่าเทียบแพและทางขึ้นฝั่งด้านเชียงของ
อยู่เยื้องลงไปทางใต้เล็กน้อย ตัวเมืองทั้งสองฝั่งก็อยู่เยื้องกันเล็กน้อยเช่นกัน แพจึงต้องวิ่งล่องตามน้ำเป็นเส้นทแยงมุมลงมา
เราจึงเห็นบ้านเรือนที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมโขง
แต่เพียงทางฝั่งซ้ายก่อน
ทางฝั่งขวานั้น เริ่มแรกยังไม่เห็นบ้านเรือน
หลังจากนั้นจึงค่อยๆปรากฏตัวขึ้น
และเมื่อแพเริ่มชะลอความเร็วลง ก็มองเห็นอาคารสีขาวขนาดใหญ่สองชั้น มุงหลังคาจั่วสีเทาซ้อนกัน ด้านหน้ามีบันไดคอนกรีตขนาดใหญ่ทอดลงมาที่ริมน้ำ
ข้าพเจ้าปล่อยมุขสุดท้าย
ก่อนกลับสู่ประเทศไทยว่า “ส่องกล้องมองขึ้นไปบนฝั่งแล้ว
ไม่เห็นมีป้ายไหนเขียนเป็นภาษาไทยเลย แน่ใจนะว่าเมื่อกี้เราลงถูกท่า”
แล้วจึงยิ้มออกมาได้
เมื่อข้าพเจ้าชี้ให้ดูตราสัญลักษณ์ของกรมศุลกากร มองเห็นตัวอักษร ศ ขนาดใหญ่เขียนแบบโบราณ
และมีความละม้ายคล้ายคลึงกับตัวอักษรที่เราคุ้นเคยมาตลอด
7 วันที่ผ่านมาในต่างแดนเป็นอย่างยิ่ง
30. ส่งท้าย
แพขนานยนต์นำเราเข้าเทียบท่าฝั่งไทยที่อำเภอเชียงของด้วยความเรียบร้อย
รถทั้งสองคันลงจากแพแล่นขึ้นบกเมื่อเวลา 10.10 น.
หลังจากเสร็จพิธีการขาเข้าต่างๆแล้ว
คณะเดินทางได้มุ่งหน้ากลับสู่กรุงเทพฯ แบบตียาวรวดเดียว และกลับถึงกรุงเทพฯโดยสวัสดิภาพเมื่อเวลาห้าทุ่ม
การเดินทางครั้งนี้ รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น
3240 กิโลเมตร
แต่หากนับเฉพาะเส้นทางที่อยู่ในประเทศลาว จะได้ระยะทาง 1800
กิโลเมตร
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า
เส้นทางที่ใช้ในประเทศลาวส่วนใหญ่ เป็นทางโค้งมากกว่าทางตรง หากจะนับจำนวนโค้ง
โดยใช้สมมติฐานว่า ค่าเฉลี่ยของจำนวนโค้งต่อ 1 กิโลเมตร อยู่ที่ 15 โค้ง แล้ว
คณะเดินทางน่าจะได้ขับผ่านไปประมาณ 27,000 โค้ง
เฉลี่ยต่อวันเท่ากับวันละ 3,857
โค้ง หรือชั่วโมงละ 321 โค้ง
การสำรวจเส้นทางครั้งนี้
จบลงอย่างบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ทุกประการ
ทุกอย่างที่คณะเดินทางได้สัมผัสด้วยตนเองตลอด
7 วัน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ทิวทัศน์ บรรยากาศ วัฒนธรรม ภาษา และผู้คน ล้วนเพิ่มเติมโลกทรรศน์
ความรู้รอบตัว และประสบการณ์ชีวิตให้พอกพูนขึ้น
สำหรับข้าพเจ้า
ในฐานะผู้เขียนรายงาน ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่าน และหวังว่าทุกท่านจะได้นำสาระต่างๆที่บันทึกไว้ไปใช้ประโยชน์ได้ตามสมควร
และโปรดอย่าลืมว่า ทุกอย่างที่บันทึกไว้นี้ เป็นสิ่งที่เป็นอยู่เมื่อฤดูหนาวปลายปี
พ.ศ.2550
ดังนั้น
หลายสิ่งหลายอย่างในวันนี้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากวันนั้นบ้าง ตามหลักของความเป็นอนิจจัง
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม
ข้าพเจ้าและสมาชิกคณะเดินทางทุกท่าน ล้วนมีความเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง
หากจะมีโอกาสได้กลับไป “เยี่ยมยาม” สถานที่ต่างๆ
และผู้คนที่ได้พบปะมาแล้วนี้อีกสักครั้งหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
รางวัลล็อตโต 20 ล้านกีบ ที่ยังคงรอคอยพวกเราอยู่ที่ซำเหนือ
(จบบริบูรณ์)
(คลิกที่นี่ เพื่อย้อนดูเรื่องราวในตอนที่แล้ว)
(คลิกที่นี่ เพื่อติดตามเรื่องราวตั้งแต่ตอนแรก)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น