101.5 ปี 1911



และแล้วผมก็นำเจ้า เรมิงตัน 1911 R1 ใหม่แกะกล่อง ไปทดสอบดูว่าเป็นอย่างไร กับหาโอกาสเทียบเคียงกับ 1911 ยี่ห้อหรือรุ่นอื่นๆด้วย จะได้รู้ว่ามีอะไรเด่นอะไรด้อยกว่าเขาบ้าง


ก่อนทดสอบ ก็ศึกษาวิธีถอดประกอบเบื้องต้นไว้ กะว่าจะลองถอดชิ้นส่วนหลักๆ ออกดูสักรอบก่อนยิงจริง 

ปรากฏว่า ถอดไม่ออกครับ มันแน่นมากๆ และใจไม่ถึงพอที่จะหักโหมเอาด้วยกำลัง

กลับไปอ่านบทความทดสอบ ตามหนังสือและเว็บต่างๆ เห็นบอกว่า ของใหม่แกะกล่อง ให้นำไปออกกำลังก่อน สักร้อยสองร้อยนัด แล้วค่อยถอดล้างก็ได้ จะง่ายขึ้น 

เลยโอเคๆ งั้นไปลองยิงดูกันก่อน

รอบแรกไปที่สนามม่อนเนินแก้ว กับคุณหลวงไกรสรโกศัย (นามเดิม ปุ้ม ถนัดซ่อนปืน) และผู้ใหญ่ธิติ ยืนยิงสองมือไม่พาด ระยะราว 15 เมตร ลูกที่ใช้เป็น S&B 230gr FMJ 

พบว่า ทุกระบบทำงานเรียบร้อยดี  แต่กลุ่มกระจายหลุดวงดำ ออกซ้ายล่างหมด 

เปลี่ยนเป็นพาดยิงที่ระยะเดิม ได้กลุ่มเกาะกันดีขึ้น แต่ยังกินซ้ายล่าง กับมีหลุดดำให้รำคาญอยู่บ้าง

ลองกลับไปกลับมาหลายครั้ง ก็วนอยู่แค่นี้  ให้คุณหลวงไกรสรฯ และผู้ใหญ่ธิติยิงดูบ้าง ก็กินซ้ายกันทุกคน

คุณหลวงฯ มี 1911 คู่ใจเหมือนกัน เป็น โคลท์ คอมแบ็ท อีลิต บอกว่าถอยมาเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ได้เปลี่ยนชุดลั่นไกจากของเดิม มาเป็นของวิลสันคอมแบ็ท 




ยิงเปรียบเทียบดู ปรากฏว่า เข้าเป้าง่ายกว่ากันแยะ ไกเบาหลุดคมกว่ากันเยอะ 

ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไกของเจ้า R1 นี่มันยุคหินมากเลย ทั้งหนักทั้งครืด ถึงแม้ตอนหลุดจะคมพอใช้ได้

ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ระบบลั่นไกของเจ้า R1 นี้ มีสมอล็อคเข็มแทงชนวน แบบควบคุมด้วยไก เช่นเดียวกับพวกโค้ลท์ 1911 รุ่นซีรี่ส์ 80 เป็นต้นมา 

ระบบนี้มีชื่อ (เสีย) ว่า เป็นตัวการทำให้ไกหนักขึ้น และเดินได้ไม่เรียบสนิท 

ถึงแม้จะมีประโยชน์สำหรับป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ให้ปืนลั่นหากตกลงทิ่มพื้น แต่ทำให้ยิงแบบประณีตได้ยากกว่า 

อันนี้ก็ต้องยอมรับสภาพครับ ว่าเรมิงตันรุ่นนี้ออกแบบมาให้เป็นปืนใช้งานเชิงต่อสู้ มากกว่าใช้แข่งขันปั้นเอ๊กซ์

กับอีกอย่างหนึ่งคือ ไกของรุ่น R1 นี้เป็นแบบช่วงสั้น ตามแบบของ 1911 A1 แต่สันของด้ามจับส่วนที่เป็นเรือนสปริง กลับเป็นแบบเรียบ มิยักโค้งนูนออกมาตามแบบของ 1911 A1 

ทำให้ผมซึ่งเป็นคนนิ้วยาว กำด้ามแล้วเหนี่ยวไกได้ไม่ค่อยถนัด หากตั้งใจจะยิงแบบนิ่งๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องทดสอบอีกแบบดูบ้าง ว่าจะได้ผลอย่างไร 

ใช้เป้าแผ่นเหล็กรูปหุ่นคน 3 เป้า ที่ระยะ 7 -15 เมตร พบว่า ยิงช้าเป๊งทุกนัด ยิงเร็วเป๊งเกือบทุกนัด ลองเดินยิงไปมา ขยับซ้ายขยับขวา ถอยหน้าถอยหลัง ก็ยังเป๊งเกือบทุกนัด 

ถือว่าพอใช้ได้นะครับ เลยยังไม่ปรับศูนย์ ขอลองยิงไปเรื่อยๆ ให้รู้สึกว่านิ่งเสียก่อน (ศูนย์หลังเป็นศูนย์ตาย แบบเคาะปรับซ้ายขวาได้ครับ แต่ปรับสูงต่ำไม่ได้)



จบรอบแรกนี่ ฟาดไปร้อยกว่านัด จึงนำมาถอดล้าง 

ปรากฏว่า แหวนบุชชิ่งยึดปากลำกล้องยังแน่นมาก ใช้นิ้วหมุนไม่ออกเหมือนเดิม 

ลองใช้ประแจช่วย จึงเริ่มขยับ แต่ก็รู้สึกไม่ค่อยถนัด กลัวจะพลาดปล่อยจุกครอบสปริงดีดกระเด็นหายไป หรือไม่ก็ดีดใส่หน้าตัวเอง (คุณหลวงไกรสรฯ สารภาพว่า เคยโดนม้าของตัวเองดีดกะโหลกมาแล้ว)

ผลสุดท้าย ต้องใช้วิธีถอดแบบลัด คือเลื่อนสไลด์ถอยหลัง จับค้างไว้ในตำแหน่งที่สามารถกดปุ่ม ดันแกนคันล็อคสไลด์ออกทางข้างๆ 

เมื่อดึงคันล็อคสไลด์ออกได้แล้ว จึงค่อยเลื่อนทั้งสไลด์และชุดสปริง กลับออกทางข้างหน้าไปพร้อมๆกัน

ก็ยังไม่สำเร็จครับ เพราะกดปุ่มแกนคันล็อคสไลด์ด้วยนิ้วเปล่าๆไม่ลง ต้องใช้ตะเกียบช่วยกด ถึงจะยอมยุบลงไป 

พอยุบตัวจนอีกข้าง เริ่มขยับออกห่างจากโครงปืน ให้พอดึงออกได้ถนัดๆแล้ว แกนมันก็ยังติดคารูอยู่แน่นมากๆ 

ต้องหมุนไปหมุนมาอยู่หลายรอบ กว่าจะยอมออกมาได้

พอถอดสไลด์ออกจากโครง แยกชุดสปริงออกได้แล้ว ก็ยังบิดแหวนบุชชิ่ง เพื่อปลดล็อกออกจากสไลด์ ด้วยมือเปล่าไม่ออกอีก 

ต้องใช้ประแจขัน ถึงจะยอมขยับหมุนจนปลดล็อคได้

แกนสปริงของรุ่นนี้เป็นแบบสั้น และเฉกเช่นชิ้นส่วนอื่นๆก่อนหน้านี้ คือ กว่าจะถอดออกจากสปริงได้ ต้องจับหมุนไปหมุนมาหลายๆรอบ จนหายฝืดเสียก่อน 

วัสดุที่ใช้ทำไกด์ร็อดก็ดูแปลกๆ จับดูให้ความรู้สึกคล้ายๆพลาสติค ลองใช้ไขควงเคาะดู ก็ฟังดูก้ำๆกึ่งๆชอบกล

ทุกชิ้นส่วนที่กล่าวไปแล้ว มีร่องรอยว่าทาน้ำมันหล่อลื่นมาก่อนให้สัมผัสได้ รางสไลด์ก็มีทาน้ำมันแบบผสมทองแดงทิ้งไว้ให้เห็น ไม่ได้แห้งผากมาทั้งกระบอก 

ผมเลยสงสัยอยู่เหมือนกันว่า พวกปืนฟิตแน่น อย่าง เลส เบเออร์ ที่ว่าถอดยากนักหนา หรือพวกปืนแต่งแพงๆทั้งหลาย จะไม่ยิ่งถอดยากกว่านี้อีกหรือ 

รวมความว่า ผมใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง กับประสบการณ์ครั้งแรกในการถอดเจ้า 1911 R1 ตัวนี้

ล้างทุกชิ้นส่วน และทาๆหยอดๆน้ำมันให้ทั่วถึงตามตำราแล้ว ก็ถึงเวลาประกอบคืน 

เบื้องแรกทุกอย่างดูราบรื่นดี มาจนถึงตอนจะใส่คันล็อคสไลด์กลับเข้าที่นี่แหละครับ ที่เล็งแล้วเล็งอีก กว่าจะได้แนวตรงกับรูห่วงโตงเตง 

พอแน่ใจว่าตรงได้ที่ ก็เสียบลงรูได้ตลอด แต่กดแป๊ะให้แนบสนิทกับโครงไม่ได้อีก เพราะหัวครอบสปริง ตรงปากหลอดสปริงยึดคันค้างสไลด์ ไม่ยอมขยับ 

น่าจะเป็นเพราะสปริงแข็งมาก พยายามหยอดน้ำมันช่วยอย่างไร ก็ไม่ได้ผล

หลังจากพยายามอยู่อีกราวครึ่งชั่วโมง ก็หมดความอดทน ตัดสินใจใช้กำลัง 

เรียบร้อยสิครับ ได้รอยคลาสสิคฝากไว้บนโครง ตรงตำแหน่งสองนาฬิกาข้างโกร่งไก ตามที่ผู้รู้ในตำรา พร่ำเตือนไว้ก่อนแล้วเผง 

โชคดีที่รอยไม่ใหญ่มากจนเด่นเห็นชัด พอจะมองข้ามๆไปได้จากบางมุม (ม้าของคุณหลวงไกรสรฯ เห็นมีรอยแยกเขี้ยวนี้เหมือนกัน เป็นอันว่าได้เพื่อนอีกรายแล้วนะครับ)



จากนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรอีก ยกเว้นขั้นตอนสุดท้าย กดจุกครอบสปริงเข้าที่แล้ว ยังต้องใช้ประแจแทนนิ้วมือ บิดแหวนบุชชิ่งเพื่อล็อคจุกครอบสปริง  

รู้สึกว่าแรงอัดของสปริงแน่นมากๆ และผิวสัมผัสบุชชิ่งกับสไลด์ ก็ยังมีความฝืดมาก เกิดการเสียดสีของเขี้ยวแหวนฯกับผิวหน้าของจุกครอบสปริง ถ้าส่องดูอย่างละเอียด จะเห็นรอยถลอกบนเกล็ดนิดๆ

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ผมนำไปสนามอีกสองครั้ง แต่ละครั้งหมดไปอีกราวๆร้อยนัด 

ผลการยิงค่อยๆดีขึ้นที่ละนิดครับ แต่ยังไม่ค่อยได้อย่างใจ เพราะกินซ้ายล่างเหมือนเดิม ไม่รู้ว่าตกลงเป็นเพราะนิ้วยาวไกสั้นหรือเปล่า

ครั้งหลังสุดนี่ มีนักยิงปืนผู้มีใจอารีท่านนึง ซึ่งผมไม่รู้จักมาก่อน โชว์ม้าของท่านที่แต่งมาสุดๆให้ดู 

บอกว่า ของเดิมซื้อมาห้าหมื่น เมื่อห้าปีก่อน ปรับแต่งไปเรื่อยๆด้วยใจรัก ถึงวันนี้เปลี่ยนแทบทุกชิ้นส่วน หมดไปสามแสนแล้ว 

ลำกล้องใหม่เป็นของชูมานน์ สีทองเหลืองอร่าม เปลี่ยนสไลด์ ชุดลั่นไก ด้าม ใส่บ่อแม็ก ฯลฯ (อะไรของใครบ้างผมจำไม่ได้เสียแล้ว) 

หน้าตาดูเป็นปืนซิ่งเต็มตัว เหลือแต่โครงเท่านั้นที่ยังเป็นของเดิม

ผมก็เลยเอาเจ้า R1 ให้ท่านลองดู ท่านบอกว่า เพิ่งได้จับตัวจริง รู้สึกไกจะหนักไปหน่อย ลองม้าแต่งของท่าน เปรียบเทียบดูหน่อยไหม รับรองไกเบาเรียบลื่นคมกริ๊บ น้ำหนักแค่สองปอนด์ 

ผมจึงลองด้วยลูกของสนาม เป็น บุลเล็ตมาสเตอร์ 200gr LSWC ระยะ 15 หลา 

ได้การเลยครับคราวนี้ กลุ่มกอดกันแน่นอยู่ทางขวา แถวๆเก้ากับสิบไม่มีแตกแถวไปกว่านั้น 

ลองเปลี่ยนมายิงโบว์ลิ่งพิน ที่ระยะ 25 หลา ก็สามารถคว่ำได้ทั้งห้าตัวในห้านัด โดยไม่ใช้เวลานาน

ขอบคุณท่านเจ้าของม้ากลายพันธุ์มูลค่าสามแสนแล้ว ตื่นขึ้นมายิงเจ้า R1 ของตัวเองอีกรอบ ก็ได้ผลงั้นๆเหมือนเดิม 

ว่าจะลองเคาะศูนย์สักหน่อย เผื่อจะช่วยย้ายกลุ่มได้สักนิด ก็ยังไม่ได้ลงมือเสียทีครับ 

เห็นบางตำราบอกว่า ไม่ควรใช้วิธีเคาะ ควรใช้เครื่องมือปรับศูนย์ แบบที่ส่วนล่างเป็นคีมล็อคโครงและสไลด์ให้อยู่กับที่ ส่วนบนเป็นกลอนตัวหนอน ไขเกลียวค่อยๆดันศูนย์ให้เคลื่อนตัว ไม่ใช้แรงกระแทก จะถนอมปืนได้ดีกว่า 

แต่ยังหาเครื่องมือเช่นว่านี้ไม่ได้

หลังจากการยิงรอบที่สอง การถอดและประกอบคืนก็ง่ายขึ้นครับ พอรอบสามนี่เริ่มคล่องแล้ว ทั้งความลื่นของชิ้นส่วน และความคุ้นเคยของเจ้าของ ไม่ต้องพึ่งประแจอีก 

ตอนนี้ได้แต่นึกกลับไปกลับมาว่า จะปรับศูนย์ ลงทุนแต่งหรือเปลี่ยนชุดลั่นไก รวมไปถึงชิ้นส่วนอื่นๆทั้งหลาย ให้ดีกว่านี้ถนัดกว่าเดิม จะดีไหม 

ฤาจะกัดฟันหยอดกระปุก ทุ่มทุนเลือกซื้อ 1911 รุ่นคัสตอมไฮเอ็นด์ ใหม่ๆ จากสำนักดังๆทั้งหลายที่เคยเห็นนั้น อีกสักกระบอก แยกไว้ใช้ยิงเป้าต่างหากไปเลย



ความรู้สึกที่ได้จากการทดลองม้าแต่ง ทั้งแบบพองามของคุณหลวงไกรสร และแบบลงประกวดของนักยิงปืนท่านนั้น มันคอยตามมาหลอกหลอน ให้นึกถึงความเนียนนิ่มที่หนักแน่นแม่นยำ มิเว้นวายมาจนทุกวันนี้เลยครับ

เขียนไปนึกไป ก็เกิดอารมณ์ขึ้นอีกแล้ว จึงต้องจบลงเพียงแค่นี้ 

ขอเวลาเวลาไปเดินหลังวัง สำรวจตลาดหาข้อมูลเพิ่มเติม เผื่อเจออะไรๆถูกใจ คลายความอยากได้สักหน่อย


คาดว่าจะหลายรอบ (แต่หวังว่าคงจะไม่หลายสตังค์) แน่ครับงานนี้

มาร์แชลต่อศักดิ์
กรกฎาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น