101.75 ปี 1911



ในช่วงที่ผ่านมา ร้านค้าย่านหลังวังฯ นำ 1911 แบบกึ่งคัสตอม เข้ามาวางขายกันอีกหลายยี่ห้อ มีลงทดสอบในหนังสือปืนก็หลายรุ่น

สอบถามราคา ได้รับคำตอบแล้ว ก็พาลจะหน้ามืดจะเป็นลมเสียร่ำไป จากที่เคยอยู่ที่ระดับยี่สิบหมื่น (ตอนนั้นแค่สะอึก) บัดนี้ขึ้นไปเป็นระดับสามสิบฯ แล้วครับ

ยี่ห้อเหล่านั้นได้แก่ กันคราฟเตอร์ อินดัสตรี แล้วก็ โวล์คมันน์ พรีซิชั่น และ พิสตอล ไดนามิคส์ แล้วก็มี คาบ็อต ด้วย

ผมมีโอกาสไปดูๆจับๆบางตัว รู้สึกได้เลยว่า เป็นงานประณีตฝีมือเนี้ยบทั้งนั้น ชื่อเสียงในประเทศผู้ผลิต ก็ล้วนเป็นที่กล่าวขาน

สรุปว่า สมควรมีไว้สะสมเป็นอย่างยิ่ง หากมีสตังค์มากและไม่คิดมาก

ส่วนตลาดทั่วไป  เห็นโคลท์มากที่สุดเหมือนเดิม มองหา รูเกอร์ ที่เคยเห็นอยู่พักนึง พักนี้หายไป

ส่วน เรมิงตัน ที่หายไปพักหนึ่ง เริ่มกลับมา อ้อ มีพวก ซิกเซาเออร์ มี แดน เวสสัน ด้วย พารา ออร์ดแนนซ์ ก็มี แล้วก็ คิมเบอร์ หน้าเดิมครับ

ผมลองจับคิมเบอร์ใหม่แกะกล่องสองตัว ตัวหนึ่งเป็นรุ่น แทคติคอล เฮฟวี ดิวตี อีกตัวหนึ่งเป็นรุ่น วอริเออร์




รู้สึกได้ว่า ฟิตแน่นและเนียนสมราคาครับ แต่กลับพบสนิมบางๆ ที่ผิวลำกล้องด้านนอกทั้งสองกระบอก

ทางร้านเองก็ดูตกใจ รีบเอารุ่นอื่นๆ ที่เข้ามาพร้อมกันอีกสามสี่กระบอก มาดึงสไลด์ดู

พบว่าเป็นเหมือนกันหมด และที่ตำแหน่งเดียวกันเสียด้วย คือ เป็นคราบวงแหวนใกล้ปลายลำกล้อง ส่วนที่สอดยึดกับแหวนบุชชิง

ผมค้นข้อมูลเพิ่มเติม จากเว็บต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ พบว่ามีการถกปัญหานี้มาพักใหญ่แล้ว



มีการบริภาษคิมเบอร์ ว่าเดี๋ยวนี้เอาแต่ลดต้นทุนจนคุณภาพตกลง

บ้างก็แก้ตัวให้ผู้ผลิต อ้างว่า เหล็กของคิมเบอร์ มีส่วนผสมของธาตุคาร์บอนแยะ ทำให้เกิดสนิมได้ง่ายกว่า แต่ก็ทำให้แข็งแรงทนทานกว่า(นะ)

ถ้าเจ้าของดูแลรักษาดี ทาน้ำมันสม่ำเสมอ ก็ไม่มีปัญหาหรอก (ทำนองว่า มีของดีแล้วใช้ไม่เป็นเอง)

ผมพยายามหารายละเอียด ว่าคิมเบอร์ใช้เหล็กอะไรเกรดไหนทำลำกล้อง

พอได้ความว่า สองรุ่นที่ลองจับดูนั้น ลำกล้องทำจากอัลลอยสตีล

ซึ่งก็คือ เหล็กกล้าผสม (ในต่างประเทศ บางทีก็ใช้คำว่า “โครมโมลีสตีล” แต่บ้านเรามักเรียกว่า “เหล็กคาร์บอน” หรือไม่ก็ “เหล็ก” เฉยๆ)

เกรดน่าจะเป็นเบอร์ 4140 (อันนี้ ยืนยันความถูกต้องของเกรด ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ เพราะข้อมูลไม่ได้มาจากคิมเบอร์โดยตรง ในแคตาล็อกของคิมเบอร์ จะใช้คำว่า “สตีล”)

แต่คิมเบอร์บางรุ่น ใช้ลำกล้องทำด้วยเหล็กสเตนเลส

ซึ่งก็คือ เหล็กกล้า ที่มีส่วนผสมของธาตุโครเมียมในอัตราส่วนที่สูงขึ้น เพื่อบรรเทาการผุกร่อน (บ้านเรามักเรียกว่า “สเตนเลส” เฉยๆ)

เกรดน่าจะเป็นเบอร์ 416 (ยืนยันความถูกต้องของเกรดไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกเหมือนกันนะครับ ในแคตาล็อกของคิมเบอร์ จะใช้คำว่า “สเตนเลส สตีล”)

ลำกล้องของคิมเบอร์ทั้งสองชนิดนี้ ดูเผินๆแล้วไม่เห็นความต่าง เพราะสีเงินขาวเป็นเงาเหมือนกัน ทำให้นึกไปเองได้ว่า เป็น “สเตนเลส” ทั้งนั้น 

พอรู้ความจริงแล้ว บางคนก็บริภาษคิมเบอร์ว่าหลอกลวง (ความจริงไม่ได้หลอกนะครับ เพราะในแคตาล็อก ก็ระบุไว้ชัด ว่า รุ่นไหนลำกล้องเป็นเหล็กชนิดใด)

บ้างก็ว่าคิมเบอร์มักง่าย ใช้ลำกล้องเหล็ก แต่ทำไมไม่รมดำ หรือเคลือบผิวกันสนิม (มีผู้แก้ต่างให้อีกว่า ใช้ไปสักพัก ผิวมันก็ถลอกอยู่ดี ของแค่นี้ ขยันทาน้ำมันไว้ จะยากเย็นสักแค่ไหนเชียว)

ส่วนเรื่องแกะกล่องเป็นสนิมมาเลยนั้น แฟนๆคิมเบอร์ ต่างช่วยแก้ตัวให้อย่างพร้อมเพรียง

บอกว่า ของออกมาจากโรงงาน ต้องผ่านอีกหลายมือ กว่าจะถึงผู้บริโภค อะไรๆก็เกิดได้ทั้งนั้น ถ้าไม่ดูแลให้ดีตลอดทาง





ที่ผมสงสัยคือ ทำไมยี่ห้ออื่นๆไม่เป็น ทำไมเป็นแต่คิมเบอร์ และทางบริษัทเอง ก็ดูเฉยๆ ไม่ได้ยอมรับ ปฏิเสธ หรือออกมาอธิบายอะไรให้เป็นทางการแต่อย่างใดทั้งสิ้น (เข้าใจว่ายังขายดีอยู่)

แต่เรื่องสนิมนี่ อาจดูเด็กๆไปเลยนะครับ หากเปรียบกับเรื่องที่ ฮิลตัน แยม เจ้าสำนัก 10-8 เพอร์ฟอร์แมนซ์ และเซียนปรับแต่ง 1911 ชั้นแนวหน้าผู้หนึ่งในอเมริกา ออกมาถล่มคิมเบอร์เมื่อครั้งครบรอบ 98 ปี 1911

ทีมงานของฮิลตัน สุ่มตัวอย่างคิมเบอร์ รุ่น วอริเออร์ จำนวนสองโหลมาทดสอบ

แล้วรายงานว่า หลังจากยิงไปกระบอกละสามพันนัด พบปัญหาติดขัด สไลด์ล็อกหรือปลดตัวผิดจังหวะ ขอเกี่ยวจานท้ายกระสุนหมดสภาพ ศูนย์หลังหลุด

และเมื่อยิงไปถึงห้าหกพันนัด พบว่า มีหลายกระบอกที่แหวนบุชชิงยึดปลายลำกล้องแตกร้าว สกรูยึดประกับด้ามจับหลุดออกมา และหลอดสปริงยึดคันล็อคสไลด์กับเซฟหลุดหลวม

ฮิลตันในฐานะช่างปืนชั้นครู ได้ทำการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง แนะนำวิธีการปรับแต่ง เปลี่ยนชิ้นส่วนที่มีปัญหา ไปใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตรายอื่น ที่แข็งแรงหรือคุณภาพดีกว่าแทน

เลยเจอคำโห่ จากเหล่าสาวกคิมเบอร์เข้าเต็มๆ ส่วนใหญ่บอกว่า ของฉันก็ยิงเยอะเท่าๆนี้ แต่ไม่เคยมีปัญหา

ย้อนเวลาไปก่อนหน้านั้น 6 ปี คิมเบอร์เคยผลิต 1911 ให้กับทหารอเมริกันระดับหัวกะทิจำนวนหนึ่ง ที่ถูกคัดเลือกมาจากกองร้อยลาดตระเวนปฏิบัติการพิเศษของนาวิกโยธินสหรัฐฯ เพื่อส่งไปประจำการหน่วย ลว. ผสม ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในสังกัดของ บก.ปฏิบัติการพิเศษ กระทรวงกลาโหม

เนื่องจาก สรรพาวุธของ นย. เวลานั้น เร่งผลิต 1911 สำหรับใช้กันเองเป็นการภายในไม่ทัน

1911 แบบที่ สรรพาวุธ นย. ทำใช้เอง (มาตั้งแต่แต่สมัยครบรอบ 75 ปี 1911) นี้ เรียกกันว่า MEU (SOC) หรือไม่ก็ MARSOC Pistol หรือบางทีก็เรียกว่า M 45

เป็นการนำโครง M 1911 A1 ที่คงค้างอยู่ในคลังตั้งแต่ยุคก่อนๆ มาประกอบเข้ากับชิ้นส่วนอื่นๆ ที่สั่งมาจากผู้ผลิต 1911 ภาคเอกชนหลายราย

ปัญหาการทำใช้เองไม่ทัน มีมาอย่างต่อเนื่อง จน สรรพาวุธ นย. จำยอมเปลี่ยนนโยบายใหม่ เป็นการประมูลจัดหาแบบสำเร็จรูปทั้งกระบอก จากผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดพาณิชย์ แทนการทำเอง

โดยจะปรับปรุงรายละเอียดครั้งใหญ่ และใช้ชื่อรุ่นใหม่ว่า CQBP (Close Quarter Battle Pistol)

แต่ยังไม่ทันเริ่มดำเนินการ ก็มีความต้องการเร่งด่วน จากการจัดตั้งหน่วยใหม่นี้ขึ้นมาเสียก่อน

สรรพาวุธ นย. จึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าครั้งนี้ ด้วยการสั่งซื้อแบบวิธีพิเศษ จาก คิมเบอร์ มาราวร้อยกระบอก โดยกำหนดสเป็คอิงกับ M 45 เดิม แต่ไม่เหมือนทั้งหมด

และตั้งชื่อให้เป็นการเฉพาะกิจว่า ICQB (Interim Close Quarter Battle)



เป็นนัยว่า สำหรับใช้ขัดตาทัพไปพลางๆก่อน

สามปีต่อมา หน่วย ลว. ผสม ดังกล่าวถูกยุบไป นายทหารจำนวนหนึ่งถูกปลดประจำการ โดยได้สิทธิ์นำปืนกลับบ้านไปด้วย

คิมเบอร์รุ่น ICQB นี้เลยกลายเป็นของสะสมหายาก เพราะหากนับจำนวนหมุนเวียนอยู่ในตลาดแล้ว น่าจะมีเพียงไม่กี่สิบกระบอก

ข้อมูลจากในเว็บระบุว่า ขายกันในราคากระบอกละหลายพัน ไปจนถึงหมื่นเหรียญสหรัฐฯ

ผมเดาว่า ฝ่ายการตลาดของคิมเบอร์ รีบใช้โอกาสนี้ ผลิตรุ่นนักรบ หรือ วอริเออร์ ออกมาขาย 

โดยใช้ประโยคโฆษณาในแคตาล็อกเพียงสั้นๆเนียนๆว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษนาวิกโยธินเลือกใช้คิมเบอร์ และรุ่น วอริเออร์ นี้ เป็นเกรดกองทัพ ที่ได้รับการปรับแต่งมาอย่างดีเป็นพิเศษ (ปัจจุบันถอดประโยคนี้ออกไปแล้วครับ เหลือเพียงข้อความที่ปรากฏในรูปข้างล่าง)



ในความเป็นจริง วอริเออร์ เป็นเพียงอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง จากสายการผลิตปกติของคิมเบอร์ ที่ถูกแต่งหน้าทาปาก ให้ดูบึกบึนแบบทหารเท่านั้น

สิ่งที่ทำให้ วอริเออร์ ต่างไปจากสายการผลิตของคิมเบอร์ แต่เป็นไปตามข้อกำหนดของ ICQB มีเพียงไกด์ร็อดสั้น เรือนสปริงทำด้วยเหล็กและมีห่วงแลนยาร์ด ประกับด้ามทำจากวัสดุสังเคราะห์ เซฟสองด้านซ้ายขวา และไม่มีสมอล็อคเข็มแทงชนวนเท่านั้น



หากไปดูรายละเอียดในข้อกำหนดของ ICQB แล้ว ยังต้องมีอะไรๆมากกว่านี้อีกแยะครับ

ผมเดาอีกว่า ฮิลตัน แยม คงทนเห็นการตลาดแบบนี้ไม่ได้ จึงเอามายำให้ดูเสียเลยว่าอะไรเป็นอะไร

แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีผลอะไรนัก นอกจากโดนสาวกคิมเบอร์รุมถล่ม เป็นการตอบแทน

ท่านใดที่เป็นแฟนลุงฮิคค็อกในยูทูป คงสังเกตได้นะครับว่า ไม่นานมานี้ มีร้านค้านึง ใจดีส่ง คิมเบอร์ วอริเออร์ มาให้ลุงฮิคค็อกทดสอบด้วย

ซึ่งลุงแกก็ออกตัวว่า ไม่ได้รับมาเพื่อส่งเสริมการขาย หรือจับผิดอะไรนะ เคยมีคิมเบอร์กระบอกนึงเหมือนกัน เมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ไม่ได้เก็บไว้นาน

ส่วนตัวไม่ได้ชอบ หรือไม่ชอบคิมเบอร์ เป็นพิเศษแต่อย่างใด

พิศดูเจ้านักรบกระบอกนี้ ก็สวยดี เท่าที่ได้ยิงไป (น่าจะราวๆ 20 แม็ก) ก็รู้สึกดี ท่าทางพร้อมออกศึก ขอขอบคุณร้านค้าที่นำมาให้ลอง

ส่วนโครงการจัดหา CQBP นั้น ปรากฏว่า โคลท์ รุ่น เรลกัน ที่นำมาปรับปรุงให้ตรงตามข้อกำหนดใหม่ เป็นผู้ชนะการประมูล หลังจากขับเคี่ยวกับ สปริงฟีลด์ อาร์เมอรี รุ่น เอ็มซี โอเปอเรเตอร์ อย่างเข้มข้นอยู่ 2 ปี โดย คิมเบอร์ ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขัน



ข่าวล่าสุดรายงานว่า โคลท์ ได้รับคำยืนยันการสั่งซื้อล็อตแรกไปแล้ว เป็นจำนวน 4,000 กระบอก จากทั้งหมด 12,000 ตามสัญญา  เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม ค.ศ. 2012 ในโอกาสครบรอบ 101 ปี 1911 นี่เอง

ถือได้ว่า เป็นการกลับมาอย่างสง่างามของ โคลท์ 1911 หลังจากถูกผู้อื่นบดบังรัศมีไปนับสิบๆปี

เชื่อว่า แฟนๆของโคลท์ คงจะรีบไปจับจองรุ่น เรลกัน กันเป็นการใหญ่นะครับ

ทางด้านคิมเบอร์ ก็ยังทำเฉยๆอยู่เหมือนเดิม ปล่อยให้นักรบ วอริเออร์ ของตน กลายเป็นตำนานใหม่ของวงการ 1911 ไป จะในด้านใดแง่มุมใด ก็สุดแต่ว่า ใครชอบใครเชื่อใครนะครับ

ในบ้านเรา ผมเห็นมีผู้สนใจจับจองไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รุ่นนักรบทะเลทราย เดสเสิร์ท วอริเออร์ ที่จับรุ่น วอริเออร์ เดิม มาเปลี่ยนสี ให้ดูเป็นดินๆทรายๆ ตามแฟชั่น



สำหรับผมเอง เขียนมาถึงตรงนี้ ก็เกิดอารมณ์ขึ้นอีกแล้ว จึงต้องจบลงเพียงแค่นี้ 

ขอไปชั่งใจหน่อยครับ ว่าเลือก โคลท์ เรลกัน ดีมั้ย จะได้เป็นเจ้าของ“ตำนาน” รุ่นเก๋ากับเขาบ้าง

หรือจะเลือก คิมเบอร์ วอริเออร์ ดี จะได้เป็นเจ้าของ“ตำนาน” รุ่นล่าสุด

มาร์แชลต่อศักดิ์
กันยายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น