บันทึกการสำรวจเส้นทาง บนแผ่นดินลาวตอนเหนือ พ.ศ.2550 (ตอนที่ 2/3)


บันทึกการเดินทางสำรวจเส้นทาง เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ผ่าน 7 แขวงแห่งขุนเขา ในภาคเหนือตอนบนของประเทศลาว อันได้แก่ เชียงขวาง หัวพัน หลวงพระบาง อุดมไชย พงสาลี หลวงน้ำทา และบ่อแก้ว

แถมพกด้วยการเดินทางข้ามชายแดนจากแขวงพงสาลี เข้าไปจนถึงเมืองเดียนเบียนฟู ในประเทศเวียดนาม และการข้ามชายแดนที่แขวงหลวงน้ำทา เข้าไปยืนด้อมๆมองๆดูแผ่นดินจีนยูนนานอีกหน่อยหนึ่ง

โดย ม.ต่อศักดิ์ และสหาย


11. ซำเหนือ

ท่านท้าวไกรสร และคุณจ่าน้อม ผู้เหน็ดเหนื่อยจากการขับรถมาแล้วทั้งวัน รีบนำรถทั้งสองคันเข้าจอดริมถนน ตรงหน้าแผงขายล็อตโต้พอดี

ข้าพเจ้ารีบลงจากรถ เพราะอยากจะยืดแข้งยืดขาเต็มที หลังจากเมื่อยขบและค่อนข้างวิ่งเวียน กับการนั่งรถขึ้นๆลงๆมาเป็นพันๆโค้งทั้งวันโดยไม่ต้องขับ

แต่เพียงชั่วครู่ ก็ต้องรีบกระโดดกลับขึ้นรถ หยิบเสื้อกันหนาวอย่างหนากับหมวกมาใส่แทบไม่ทัน เมื่อพบว่าอากาศข้างนอกเย็นเฉียบ อุณหภูมิอยู่ที่ 11 องศา

แม่หญิงประจำแผงขายล็อตโต้สามสี่คน ยิ้มแย้มทักทายพวกเราอย่างเป็นกันเอง แจ้งว่า สองทุ่มหวยจะออกแล้ว รีบเลือกเลขเด็ดแล้วไปหาข้าวกินก่อน อิ่มเสร็จกลับมารับรางวัลได้พอดี รางวัลใหญ่สุดเป็นเงินสูงถึง 20 ล้านกีบ



พวกเราจึงช่วยอุดหนุนกันคนละใบสองใบ หมดเงินไปหลายหมื่น  

จากนั้นเดินข้ามถนน ไปยังร้านอาหารแห่งเดียวที่เห็นเปิดอยู่ สั่งเฝอชามใหญ่ร้อนๆรับประทานแก้หนาว พลางดูข่าวสารจากเมืองไทย ทางทีวีช่อง 9

เสร็จแล้วข้ามถนนกลับมาตรวจผลเลขรางวัล บนกระดานประกาศผล ที่ติดตั้งอยู่หน้าสำนักงาน ไม่ไกลจากแผง ลุ้นว่าจะมีโชคบ้างหรือไม่ หลังจากอุตสาห์ขับรถมาไกลจากบ้านขนาดนี้


ผลปรากฏออกมาประจักษ์แก่สายตาเป็นที่แน่ชัดว่า ไม่มี

ส่วนเหล่าแม่หญิงประจำแผงล็อตโต้ทั้งหลาย ก็ได้อันตรธานหายตัวไปหมดแล้ว เหลือแต่โต๊ะเปล่าๆ วางทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า

เนื่องจากคืนนี้ไม่มีการจองที่พักไว้ล่วงหน้า คณะเดินทางจึงต้องตระเวนหาที่พัก โดยอาศัยข้อมูลจากหนังสือนำเที่ยวของฝรั่งสองเล่มที่พกมาด้วย

เมืองซำเหนือมีถนนสายหลัก กว้างสี่เลนอยู่สองสาย ยามค่ำคืนแทบไม่มีรถวิ่งให้เห็น แม้จะเป็นเวลาเพียงสองทุ่มกว่า ก็ไม่ค่อยปรากฏแสงไฟออกมาจากบ้านเรือนสองข้างทาง

หลังจากวิ่งรถกลับไปกลับมาสักครู่ และพบว่าที่พักส่วนใหญ่ที่พอดูได้ไม่มีห้องว่างเหลือแล้ว เราจึงตัดสินใจกลับมาสอบถามห้องพักที่โรงแรมลาวฮุ่ง หรือลาวรุ่ง ซึ่งภายนอกเป็นตึกใหญ่สองชั้นทาสีชมพูสดใส ชั้นล่างมีสวนหย่อม ชั้นบนมีระเบียงโดยรอบ 

ภายในล็อบบี้เป็นห้องโถงรับแขกใหญ่กว้างขวาง ฝาผนังเป็นสีชมพูสดใสเช่นกัน พื้นปูกระเบื้องลวดลายคลาสสิคสวยงาม


หลังจากเปรียบเทียบค่าห้องพักรวมอาหารเช้า ที่ราคาคืนละ 20 เหรียญสหรัฐฯ กับสถานที่ที่ดูมีกลิ่นอายประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะเก่าและทรุดโทรม ขาดการบำรุงรักษาที่ดี คณะเดินทางก็ตัดสินใจเข้าพักที่วิมานสีชมพูแห่งนี้

และเมื่อได้สำรวจห้องพักอย่างละเอียด ก็รู้สึกว่าคุ้มค่าพอสมควร

กล่าวคือ ด้านหน้าห้องพักชั้นบน เป็นระเบียงกว้างขวาง พร้อมชุดโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งชมทิวทัศน์

ภายในมีห้องรับแขกใหญ่ พร้อมโซฟาชุดรับแขก มีกระติกน้ำร้อนและถ้วยโถโอชาพร้อม ฝาผนังห้องประดับรูปเขียนสีน้ำมัน




ห้องนอนซึ่งมีทางเดินแยกไปต่างหากก็กว้างขวาง มีตู้ไม้ใบใหญ่ให้เก็บเสื้อผ้า

ห้องน้ำมีทางเดินแยกออกไปอีกส่วนหนึ่ง ยกพื้นปูกระเบื้องสีขาวเข้ากันกับสุขภัณฑ์ทั้งหมด แต่มีเดินท่อน้ำพีวีซีสีฟ้าแทนท่อฝังเดิม ซึ่งคงหมดสภาพไปแล้วอยู่บ้าง


เมื่อศึกษาประวัติแล้วจึงทราบว่า ชาวเวียดนามเป็นผู้สร้างโรงแรมลาวฮุ่งนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 เพื่อใช้เป็นที่รับรองแขกสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เดินทางมาที่นี่

เวลานั้น เมืองซำเหนือ ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงฮานอยมากกว่าเวียงจันทน์ และเป็นฐานที่มั่นหลักของกองกำลังปฏิวัติ กำลังได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ หลังจากรัฐบาลเดิมถูกล้มล้างไป พร้อมกับการสถาปนา สปป. ลาว

ก่อนจะหลับไปในคืนนี้ ข้าพเจ้าระลึกได้ด้วยว่า เมื่อสงครามครั้งนั้นยุติลง สื่อมวลชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ต่างรายงานข่าวว่า รัฐบาลใหม่ของคณะปฏิวัติ ได้เข้ากวาดล้างจับกุมกลุ่มอำนาจเก่าหลายหมื่นคน แล้วส่งไป “สัมมนา” ที่ซำเหนือ

ทุกคนที่ถูกส่งไป “สัมมนา” ต้องอาศัยอยู่ในค่ายกักกัน ถูกบังคับใช้แรงงานทุกวัน และมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นลำเค็ญ ท่ามกลางความทุรกันดารและโรคภัยไข้เจ็บ

สุดท้ายต้องล้มตายลงไปเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ คำว่า “สัมมนา” และ “ซำเหนือ” จึงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ในทางไม่ค่อยเป็นมงคลนักอยู่หลายปี มีความขลังถึงขนาดเอาไว้ใช้กำราบเด็กดื้อๆได้

เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2550 อากาศเมืองซำเหนือต้อนรับคณะเดินทางของเราด้วยความหนาวเหน็บและหมอกที่ลงจัด






เราลงมารับประทานทานอาหารเช้าที่บริเวณล็อบบี้ มีโจ๊กชามใหญ่ แถมด้วยขนมปังปิ้ง เนย แยม และกาแฟลาวรสดี

อุณหภูมิวัดได้ 14 องศา ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะเปิดเครื่องทำความร้อน ที่ทำจากถังน้ำมันผ่าครึ่ง วางอยู่บนขาตั้ง ภายในมีถ่านไฟแดงคุกรุ่นอยู่ก็ตาม




จากด้านหน้าโรงแรม ข้ามถนนแล้วเดินเลี้ยวขวาต่อไปอีกเล็กน้อย จะถึงริมแม่น้ำซำ อันเป็นที่มาของชื่อเมืองซำเหนือ ที่นี่เป็นตลาดเช้าอันคึกคักไปด้วยผู้คน มีพ่อค้าแม่ค้าทั้งจากในท้องถิ่นและแดนไกล

แปดโมงเช้าแล้ว ยังไม่เห็นแสงแดด มีแต่ไอหมอกลอยขึ้นมาจากสายน้ำ บดบังฉากหลังที่เป็นเนินเขาสีเขียวโอบล้อมเมืองอยู่ ให้เห็นเพียงลางๆ



พวกเราเดินชมตลาดอย่างเพลิดเพลิน ได้เห็นพืชผักสด ผลไม้ และขนมนานาชนิดอันน่ารับประทาน 

ไปจนถึง หัวกระบือและเลือดสดๆอันน่าสยดสยอง




ตามคำร่ำลือที่เคยได้ยินว่า มีให้เห็นเพียงที่นี่เท่านั้น

ที่ตลาดเครื่องอุปโภค มีสินค้าวางจำหน่ายมากมาย หลายชนิดเป็นสินค้าจากเวียดนามซึ่งอยู่ห่างไปไม่ถึงร้อยกิโลเมตร

แต่ดูเหมือนว่า สินค้าจากเมืองไทยจะมีมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จานรับสัญญาณดาวเทียม ที่มีวางขายเกือบจะหัวจดท้ายซอย




สินค้าที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ ผ้าซำเหนือ ที่ผลิตโดยชาวไต หรือผู้ไทเผ่าต่างๆ ที่มีถิ่นฐานอยู่ในเขตซำเหนือและบริเวณรอบๆ เป็นงานฝีมือที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดกันมาหลายชั่วคน

ในบรรดาผ้าทอมือเหล่านี้ กล่าวกันว่า ผ้าของเผ่าไทแดง มีลวดลายสลับซับซ้อนงดงามที่สุด และเป็นที่นิยมมากที่สุดของแม่หญิงลาว


คณะเดินทางจึงได้ถือโอกาสนี้ เลือกซื้อผ้าซำเหนือ ติดตัวเตรียมกลับไปฝากแม่หญิงไทยเสียหลายผืน

12. เวียงไชย

ไม่ไกลจากซำเหนือ มีสถานที่น่าสนใจคือ ภูผาที และเมืองเวียงไชย แต่ทั้งสองแห่งอยู่ตรงข้ามกันคนละทิศละทาง

ภูผาที สูง 1786 เมตร บนยอดเขาเคยเป็นที่ตั้งของสถานีชี้เป้า ให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของอเมริกันที่บินเข้าไปถล่มกรุงฮานอยในช่วงเข้มข้นของสงครามเวียดนาม มีชื่อรหัสเรียกว่า “คอมมานโดคลับ”  มีทหารชาวม้งและชาวไทยจำนวนหนึ่งทำหน้าที่คุ้มกัน ก่อนจะถูกหน่วยแซปเปอร์ของเวียดนามเหนือ ปีนขึ้นไปทำลายได้สำเร็จในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา

คณะเดินทางอยากเห็นภูผาที หลังจากที่เคยแต่ได้อ่านเรื่องราว ทั้งที่บันทึกไว้โดยฝรั่ง ญวน และอดีตนักรบชาวไทยชื่อดังในเวลานี้หลายท่าน

แต่เมื่อสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวจากทางโรงแรมแล้ว ทราบว่านักท่องเที่ยวไม่สามารถขึ้นไปชมได้ อนุญาตให้ชมเพียงทิวทัศน์รอบๆเชิงเขาเท่านั้น

ส่วนเมืองเวียงไชย เคยเป็นกองบัญชาการของขบวนการปะเทศลาว หรือกองกำลังปฏิวัติ ที่มีท่านไกสอน พมวิหาน เป็นผู้นำ มีถ้ำหลายแห่งทีใช้เป็นที่พักและที่หลบภัยของแม่ทัพนายกองคนสำคัญ ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้

คณะเดินทางจึงออกจากซำเหนือ เมื่อเวลาเก้าโมงเช้า มุ่งหน้าไปยังเมืองเวียงไชย ซึ่งตั้งอยู่บน ท.6 ห่างออกไปไมถึง 30 กิโลเมตร

ทิวทัศน์ระว่างทางสวยงาม เป็นป่าสลับทุ่งนา มีเขาหินปูนสูงชันอยู่รอบข้าง ผ่านหมู่บ้านหัตถกรรมท้องถิ่นหลายแห่ง


ท.6 สู่เมืองเวียงไชย ยังคงเป็นถนนเล็กๆที่คดเคี้ยว แต่ลาดยางหมดแล้วตลอดสาย และเหมือนเช่นเคยที่ผ่านมาคือ แทบไม่มีรถอื่นวิ่งให้เห็น



พวกเราขับไปจอดถ่ายรูปสองข้างทางไปเรื่อยๆ ประมาณชั่วโมงเดียวก็เข้าเขตเมืองเวียงไชย




ที่กลางเมืองเวียงไชยมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ มองไปมีภูเขาเป็นฉากหลัง มองเห็นเงาของภูเขาทั้งลูกทอดอยู่บนผิวน้ำ เป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพมาก

อากาศยังคงเย็นสบาย ท้องฟ้ามืดครึ้มไม่มีแสงแดด แม้เวลาจะล่วงสิบโมงเช้าไปแล้ว



ป้ายนำทางพาเราไปถึง “เขดอะนุสอนสะถาน ปะทานไกสอน พมวิหาน” อันประกอบด้วยอาคารสำนักงานหลังใหญ่สร้างด้วยปูนขนาด 2 ชั้น 1 หลัง และอาคารเล็กมีทั้งที่สร้างด้วยปูนและไม้ เก่าบ้างใหม่บ้างกระจายตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้

ด้านหลังเป็นหน้าผาสูงชัน ที่มีถ้ำอยู่ภายใน




หลังจากซื้อ “ปี้เข้าชม” ในราคาใบละ 20,000 กีบแล้ว แม่หญิงผู้ทำหน้าที่เป็นวิทยากร ก็นำพวกเราเข้าชมคูหาต่างๆในถ้ำ


ได้ดูห้องหลบภัยแบบอัดอากาศ ห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องพักผ่อนนอนหลับหลังอาหารกลางวัน ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องอาหาร มีเครื่องเรือนและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่วางไว้ให้ชม พร้อมรูปภาพบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง




สมาชิกของคณะเดินทาง ที่เคยไปชมถ้ำใต้ดินของพวกเวียดกงมาแล้ว แสดงความตื่นเต้นเมื่อพบว่า ถ้ำแห่งนี้มีความโอ่โถงและสะดวกสบายกว่ามาก ต่างกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

ทุกห้องและทุกทางเดินมีเพดานสูง สามารถเดินได้อย่างสบาย แม้แต่ทางเดินส่วนที่แคบที่สุด ก็ยังสามารถเดินสวนทางกันได้



นอกจากถ้ำท่านไกสอน ซึ่งเป็นถ้ำที่ใหญ่และมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากที่สุดแล้ว ยังมีถ้ำของผู้นำท่านอื่นๆอีกหลายถ้ำ ที่คณะเดินทางไม่ได้เข้าชม

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่นี่ว่า เมื่อครั้งเริ่มทำสงครามกัน แม่ทัพอากาศของอเมริกาเคยประกาศศักดาไว้ว่า เราจะระดมทิ้งระเบิดใส่พวกมันให้กลับไปสู่ยุคหินเลย

โดยหารู้ไม่ว่า ฝ่ายตรงข้ามเขาทำตัวเป็นมนุษย์ถ้ำ เตรียมพร้อมรับมืออยู่ก่อนเรียบร้อยแล้ว





ทันทีที่ชนะสงคราม รัฐบาลใหม่มีดำริจะสถาปนาเมืองเวียงไชยขึ้นเป็นนครหลวงแทนกรุงเวียงจันทน์ และเริ่มก่อสร้างอาคารสถานที่ขึ้นใหม่หลายแห่ง เพื่อเป็นใช้ที่ทำการรัฐบาล รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆให้สวยงามโอฬาร

โดยใช้แรงงานจากค่ายสัมมนา และความช่วยเหลือจากประเทศพันธมิตรใกล้ชิดในขณะนั้น

แต่ต่อมา เหล่าพันธมิตรกลับเริ่มเห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองเงินทองของตนไปเปล่าๆโดยใช่เหตุ

ความช่วยเหลือจึงค่อยๆลดน้อยลง และหมดไปในที่สุด

ทางด้านรัฐบาลใหม่เอง ก็ไม่สามารถระดมทุนจากแหล่งอื่น ทำให้โครงการดังกล่าวต้องยุติลง

ส่วนอาคารและถนนหนทางต่างๆที่ได้สร้างเสร็จไปแล้ว ก็ค่อยๆร้างและเสื่อมโทรมลงไปตามกาลเวลา มีเพียงบางอาคารยังคงใช้เป็นสถานที่ทำการของราชการส่วนท้องถิ่นมาจนทุกวันนี้




ข้าพเจ้าเดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนายหนึ่ง เพื่อจะสอบถามถึงสถานที่สำคัญต่างๆ

และด้วยความเคยชิน ข้าพเจ้าเตรียมจะยกมือไหว้ทักทายตามธรรมเนียม

แต่เจ้าหน้าที่ผู้มีบุคลิกแบบสหายเก่าผู้นั้น กลับรีบยื่นมือมาให้ข้าพเจ้าสัมผัสเสียก่อน พร้อมกล่าวว่า “สะบายดี” อย่างเป็นกันเอง

ที่สวนสาธารณะกลางเมือง มีอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะตั้งโดดเด่นอยู่ในลานใหญ่

ตัวอนุสาวรีย์ทาสีขาว ส่วนบนเป็นเจดีย์แบบลาว มีดวงดาวสีทองห้าแฉกติดไว้บนยอด ส่วนล่างของเจดีย์มีคำจารึกสีทอง เป็นอักษรลาวเขียนไว้ในแนวตั้งว่า “ชาดจาลึกบุนคุน”



ถัดออกไปเกือบจะพ้นอาณาบริเวณของศูนย์ราชการ คณะเดินทางพบอนุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่ง ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆท่ามกลางต้นไม้และอาคารใหญ่น้อย

ดูจากลักษณะทั่วไปแล้ว น่าจะเป็นอนุสาวรีย์วีรชน หรือมิฉะนั้นก็ผู้เสียสละเพื่อชาติ

ตัวอนุสาวรีย์ทำเป็นรูปปั้นของสหายร่วมอุดมการณ์ ยืนเรียงกันอยู่สามคน ทาสีทองและตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสองชั้น มีปูนปั้นรูปดอกบัวล้อมรอบ


คนแรกเป็นสหายหญิงชาวนา มือขวาถือเคียว มือซ้ายถือรวงข้าว สะพายปืนไว้ด้านหลัง

คนถัดไปเป็นสหายนักรบ ชูปืนอาก้าขึ้นสุดแขนด้วยมือขวา

คนสุดท้ายเป็นสหายกรรมกร แบกค้อนไว้บนไหล่ขวา แขนซ้ายแบมือเหยียดตรงขึ้นไปข้างหน้า ที่เอวซ้ายคาดลูกระเบิดขว้างสองลูก เท้าซ้ายก้าวเหยียบอยู่บนลูกระเบิดชนิดที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบิน

เมื่อคณะเดินทางเข้าไปพิจาณาดูอย่างใกล้ชิด จึงได้เห็นว่า ลูกระเบิดที่ถูกเหยียบอยู่นั้น มีคำจารึกตัวนูน เป็นอักษรโรมันเขียนไว้ในแนวนอนว่า USA


13. เมืองเลียด

ขากลับจากเมืองเวียงไชย คณะเดินทางแวะชมหมู่บ้านหัตถกรรมแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ริมทาง ชื่อว่า บ้านเมืองเลียด ซึ่งทางการจัดให้เป็น “บ้านวัดทะนะทำใหม่” มีสินค้าทำจากแผ่นอลูมิเนียมหลายชนิด ล้วนผลิตกันในครัวเรือนที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมทาง




แผ่นอลูมิเนียมเหล่านี้ นำเข้ามาจากเวียดนาม แล้วจึงถูกแปรรูปให้เป็นสินค้าหลัก 2 ชนิด

อย่างแรกได้แก่โตก ที่มีให้เลือกทั้งแบบวงกลมและรูปไข่ ในขนาดต่างๆกัน

กับอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราสนใจมากกว่าก็คือ หม้อสำหรับต้มกลั่นสุรา


ระหว่างเดินชมสินค้า มีชาวบ้านหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก ออกมายืนดูคณะเดินทางจากเมืองไทยกันอย่างสนใจ

เด็กๆเหล่านี้ต่างมีผิวพรรณผุดผ่องเป็นยองใยและหน้าตาหมดจด หลายคนแก้มแดงไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย




พวกเราได้ทักทายพูดคุยกับพวกเด็กๆอย่างสนุกสนาน และไม่ลืมที่จะแบ่งขนมที่นำติดตัวมาจากเมืองไทยให้เพื่อนใหม่ของเราลองชิมกันอย่างทั่วถึง ก่อนจะจากกันอย่างมีไมตรีจิต

คณะเดินทางกลับมาถึงซำเหนือเมื่อประมาณเที่ยงครึ่ง ผ่านสนามบินที่ดูเงียบเหงา มี “หอคอยสะหนามบินนาทอง” ตั้งอยู่ริมถนน




ชั้นล่างของหอคอย มีร้านค้าของชำเล็กๆ มีแม่หญิงเจ้าหน้าที่ของ “กานบินลาว” ประจำอยู่ 1 นาง แจ้งให้เราทราบว่า มีเที่ยวบินจากเวียงจันทน์มาที่นี่สัปดาห์ละ 3 ครั้ง



อากาศช่วงบ่ายท้องฟ้ายังมีเมฆมาก แสงแดดไม่แรงนัก อากาศกลางแจ้งจึงอบอุ่น แต่หากเป็นภายใต้ร่มเงาจะเย็นต่างกันมาก



คณะเดินทางแวะเติมน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง แล้วกลับไปรับประทานเฝอเป็นอาหารกลางวันที่ร้านเดิม เจ้าของร้านยังคงเปิดโทรทัศน์ชมรายการจากประเทศไทย เช่นเดียวกับเมือคืนก่อน




จากนั้นจึงขับรถชมบ้านเมืองอีกครั้งในยามกลางวัน และแวะขึ้นไปดูทิวทัศน์จาก “สะถานีลดขนส่งโดยสาร” ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเนินเขา สามารถมองลงมาเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของแม่น้ำและตัวเมืองที่อยู่เบื้องล่าง








14. สวนหิน

คณะเดินทางอำลาซำเหนือเมื่อเวลาบ่ายโมงสี่สิบห้า ใช้เส้นทาง ท.6 มุ่งหน้ากลับไปยังสามแยกพูเล้า เพื่อตัดเข้า ท.1 ที่เชื่อมต่อแขวงหัวพันเข้ากับแขวงหลวงพระบาง

ข้าพเจ้าทำหน้าที่พลขับรถนำ ส่วนคุณจ่าน้อมขับรถตามเช่นเคย




ประมาณ 60 กิโลเมตรจากซำเหนือ แล้วแยกเข้าทางลูกรังดิบๆไปอีก 6 กิโลเมตร จะถึง “อุดทิยานหินตั้ง” สามารถสังเกตเห็นทางเข้าได้ตั้งแต่ปากทางจาก ท.6 ที่มีป้ายขนาดใหญ่บอกสถานที่ตั้งอยู่ให้เห็นได้ชัดเจน


ที่นี่เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญรองลงมาจากทุ่งไหหิน มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และมีการค้นพบแล้วมากกว่าหนึ่งที่ โดยที่เหลือมีการกระจายตัวเป็นกลุ่มๆอยู่ห่างออกไป เช่นเดียวกันกับทุ่งไหหิน

หากไหหินเปรียบเป็นจอกสุรา หินตั้งก็เหมือนเศษกระจกแตกที่วางปักอยู่บนพื้นดิน

ชวนให้จินตนาการเห็นยักษ์ขี้เมา ปาจอกเหล้าจากทุ่งไหหินมาโดนกระจกแตกถึงที่นี่





และเมื่อคณะเดินทางได้ลงเดินสำรวจจนทั่วแล้ว พบว่า มีแผ่นหินรูปวงกลมขนาดใหญ่เล็กต่างๆกัน วางนอนราบปะปนอยู่กับแผ่นหินตั้งเปล่านี้ด้วย

ห่างขึ้นไปบนเนินเขา มีจุดชมวิว และป้ายของทางการ บรรยายสรุปข้อมูลการสำรวจ และรูปภาพบางส่วน ให้ผู้มาเยือนได้ศึกษา

เราจึงได้ทราบว่า ภายใต้แผ่นหินรูปวงกลมเหล่านี้ เคยมีการขุดพบ “วัดถุหลักถานทางบูรานคะดีจำนวนหนึ่ง ในนั้นมีโถใส่กะดูกเฮ็ดด้วยดินเผาแบบเนื้อทราย ซึ่งด้านในมีเคื่องหินจำนวนหนึ่ง ที่เกี่ยวกับพิทีกานฝังสบ มีเคื่องปะดับเฮ็ดด้วยดินเผา และก้องแขนทอง”



และทราบถึงนิทานพื้นเมืองของท้องถิ่น เล่าว่า กาลครั้งหนึ่ง ดินแดนนี้เคยมีชนเผ่ากลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ สามารถทำศึกต่อสู้เอาชนะ เป็นอิสระจากอาณาจักรหลวงพระบางได้หลายครั้งหลายหน และเตรียมจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ ด้วยแผ่นหินจำนวนมหาศาล ที่ประชาชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันตัดออกมาจากภูเขา

แต่ในที่สุด โครงการนี้ก็ล้มเลิกไป หลังจากลูกสาวและลูกชายของเจ้าเมืองทั้งสองได้แต่งงานกัน

เป็นเหตุให้ “บันดาเปี่ยงหินทั้งหลายจึงยังคงยังย้ายอยู่ตามสันพู และกายเป็นสวนหินตั้งสันก่องพัน และบลิเวนใก้เคียง ดั่งที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้”

15. ทางหลวงหมายเลข 1

จากสวนหิน คณะเดินทางมาถึงสามแยกพูเล้าเมื่อเวลาห้าโมงเย็น และเลี้ยวขวาเข้าสู่ ท.1 เพื่อมุ่งสู่แขวงหลวงพระบาง

ที่สามแยกพูเล้า มีหมู่บ้านชาวเขา ตั้งบ้านเรือนเรียงรายเป็นชุมชนย่อมๆ ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้หลังคามุงจาก

มีบ้านสองชั้นหลังคากระเบื้อง ซึ่งส่วนใหญ่ชั้นล่างเปิดเป็นร้านค้า แทรกตัวอยู่บ้าง

ที่ตั้งของสามแยกนี้ เป็นเหมือนชานพักบันได กล่าวคือ หากเลี้ยวลงใต้กลับไปเมืองคำทาง ท.6 จะลดระดับลง หากวิ่งย้อนกลับขึ้นเหนือทาง ท.6 ไปซำเหนือ จะไต่ระดับขึ้น และหากจะเลี้ยวไปทางตะวันตกเข้าสู่ ท.1 ก็จะอยู่ที่ระดับเดิม


เนื่องจากเป็นเวลาเย็น จึงเห็นชาวบ้านอยู่สองข้างทางค่อนข้างหนาตา ต่างให้ความสนใจกับคณะของเราพอสมควรระหว่างที่หยุดพักรถ

หลังจากยืดแข้งยืดขา และศึกษาเส้นทางที่เหลือสำหรับแผนการเดินทางในวันนี้แล้ว คณะเดินทางมีความเห็นตรงกันว่า ควรจะทำระยะทางให้ได้มากที่สุด ก่อนหยุดพักในคืนนี้

ท่านท้าวไกรสร ซึ่งจะกลับมาทำหน้าที่ขับรถนำในช่วงต่อไป เห็นว่า อย่างน้อยเราน่าจะไปได้ถึงเมืองเวียงทอง ซึ่งอยู๋ห่างออกไปเพียง 50 กิโลเมตร

และหากผิวทางดีเหมือนเช่นที่ผ่านมา อาจไปได้ถึงเมืองเวียงคำ ที่อยู่ถัดออกไปอีก 115 กิโลเมตร



แต่หลังจากออกจากพูเล้าไปนิดเดียว พวกเราก็พบว่าเส้นทางราดยาง ที่ถือได้ว่าเป็นทางดีนั้น ได้หมดลงเสียแล้ว

เหลือแต่เพียงทางลูกรังล้วนๆ จะพบทางราดยางอีกก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น

การเดินทางในยามมืดค่ำ ไม่เป็นปัญหาสำหรับคณะเดินทางอีกต่อไป

เพียงแต่ค่ำคืนนี้ สองข้างทางเป็นป่าไม้ล้วนๆ ไม่มีผู้คนหรือบ้านเรือนให้เห็นอีกเลย หรืออาจเรียกได้ว่า ทางเปลี่ยว ได้อย่างเต็มปาก

ความเร็วเดินทางก็ลดลงมามาก เนื่องจากผิวทางขรุขระ และยังคงความคดเคี้ยวไม่เปลี่ยนแปลง

16. เวียงทอง

จนเมื่อเวลาทุ่มครึ่ง เราจึงมาถึงเมืองเวียงทอง หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองเฮี่ยม ตั้งอยู่บนสามแยก ที่ต้องเลี้ยวเข้าไปบนถนนสายย่อย

จากที่นี่ สามารถเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติน้ำแอด-พูเลย และต้นแม่น้ำคาน ที่ไหลลงไปสู่เมืองหลวงพระบางได้

ก่อนหน้านี้มีผู้เล่าว่า คำว่า เฮี่ยม หรือ เหี้ยม มาจากการสู้รบอย่างดุเดือดที่เกิดขึ้นที่นี่ในสมัยสงครามปฏิวัติ

แต่เมื่อมาถึงแล้ว ผู้คนที่นี่กลับบอกว่า เพราะมีเสือชุกชุมต่างหาก จับคนไปกินแยะแล้วด้วย

คำให้การของฝ่ายหลังนี้ค่อนข้างมีน้ำหนัก เพราะเราได้เห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ตรงปากทางจะเข้าเมือง วาดเป็นรูปเสือโคร่งตัวเขื่อง ยืนจ้องหน้าผู้มาเยือน ในท่าที่พร้อมจะกระโดดออกมาทุกขณะ

มีคำบรรยายตัวโตเขียนว่า “พวกเราพูมใจ ที่มี เสือโค่ง” พร้อมภาษาอังกฤษกำกับว่า We’re Proud To Have Tigers Here !


ท่ามกลางความค่ำมืดและหนาวเย็น ไม่ต่างจากคืนก่อนที่ซำเหนือ ในบรรยากาศที่เงียบเหงากว่าของเมืองเล็กๆแห่งนี้ คณะเดินทางได้เห็นที่พักสองแห่ง ตั้งอยู่คนละฟากถนน เป็นตึกสองชั้นทั้งคู่

ถัดไปมี “ร้านอาหาน” แห่งหนึ่งเป็นเรือนไม้เปิดบริการอยู่ ชื่อว่า “ต้นตาวัน”

หลังจากประเมินเวลา และวิเคราะห์สถานการณ์อย่างถี่ถ้วนแล้ว พวกเราจึงตัดสินใจว่า วันนี้จะยังไม่ไปให้ถึงเวียงคำ เพราะอาจดึกเกินไปและหาที่พักไม่ได้

สมควรหยุดพักแค่นี้ก่อน และเร่งออกเดินทางในวันพรุ่งนี้แต่เช้ามืด

อาหารค่ำวันนี้เป็นผัดมาม่า ข้าวสวย ผัดหมู และผัดผักอีกจานหนึ่ง

ส่วนที่พักสำหรับคืนนี้มีชื่อว่า “เรือนพักดอกคูณทอง” ห้องนอนค่อนข้างเล็กแต่ก็สะอาดสะอ้าน 

มีห้องน้ำในตัว สุขภัณฑ์เป็นแบบนั่งยอง พื้นปูกระเบื้องและมีเครื่องทำน้ำร้อน

ราคาห้องพักอยู่ที่ห้องละ 50,000 กีบต่อคืน




17. สบเฮือง

วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2550 ก่อนเวลาหกโมงเช้าเพียงเล็กน้อย คณะเดินทางออกจากเวียงทองในความมืด และอากาศหนาวเย็นที่ทุกคนเริ่มจะคุ้นเคยมากขึ้น กลับเข้าสู่เส้นทาง ท.1 มุ่งหน้าไปเมืองเวียงคำ

ไม่นานนัก วันใหม่ก็ค่อยๆสว่างขึ้น พร้อมกับสายหมอกแห่งขุนเขา บนเส้นทางที่ยังคงเป็นทางลูกรังสลับราดยาง


เราผ่านแผ่นป้ายอันใหญ่อันหนึ่งทางซ้ายมือ มีข้อความเขียนว่า “อวยพอนท่านเดินทางโชกดี”

ตามมาทันทีด้วยอีกป้ายหนึ่งทางขวามือ เขียนว่า “ยินดีต้อนรับสู่หลวงพะบาง เมืองมอละดกโลก”





สองข้างทางยังคงเป็นป่า มีต้นส้มขึ้นสลับเป็นระยะๆ และยังไม่มีผู้คนหรือหมู่บ้านให้เห็นนัก

จนกระทั่งรถวิ่งข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่ง อีกราว 50 กิโลเมตรจะถึงเมืองเวียงคำ ทิวทัศน์สองข้างทางก็เริ่มเปลี่ยนไป

กล่าวคือ จากที่เห็นแต่ป่าไม้เบญจพรรณบนภูเขาสูงมาตลอดนั้น

บัดนี้ เส้นทางได้พาเราเข้าสู่ชุมชนแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ท่ามกลางดงมะพร้าว ที่แต่ละต้นล้วนต้นสูงใหญ่ และขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่นเต็มไปหมดทั้งสองข้างทาง

ภาพที่ปรากฏให้เห็น ทำให้คณะเดินทางรู้สึกเหมือนได้มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย มากกว่าภาคเหนือของประเทศลาว


จากนั้นเราจึงเริ่มสังเกตเห็นว่า นอกจากมะพร้าวแล้ว ยังมีมะม่วง มะขาม สะเดา และไผ่ ขึ้นอยู่ให้เห็นทั้งในระยะใกล้และไกลด้วย

ขณะที่เรามาถึง เป็นเวลาแปดโมงเช้าพอดี ระหว่างที่เราจอดรถ เพื่อเก็บภาพทั่วๆไปของสถานที่อยู่นั้น ก็ได้เห็นชาวบ้านกำลังจับกลุ่มล้อมกองไฟเพื่อความอบอุ่น

อีกกลุ่มกำลังตัดไม้ และอีกกลุ่มซึ่งอยู่ในวัยเด็ก กำลังโรยงาและเกลือ ลงบนตะไคร่น้ำที่นำมาปูและตีให้เป็นแผ่นใหญ่วางอยู่บนโต๊ะ



เมื่อได้เข้าไปสอบถาม จึงได้รับคำตอบว่า หมู่บ้านนี้ชื่อ “สบเฮือง” หรือ “สบเรือง” หากออกเสียงแบบไทย และแม่น้ำที่พวกเราเพิ่งข้ามมา ก็คือแม่น้ำเฮืองนั่นเอง





ชาวสบเฮืองดูจะให้ความสนใจ กับอาคันตุกะแปลกหน้าในยามเช้าไม่น้อย

หลายคนอยากรู้ว่า เรามาจากไหน จะไปไหน ที่บ้านเราอยู่กันอย่างไร

และเมื่อพบว่า ภาษาไม่เป็นอุปสรรค และหน้าตาท่าทางก็ไม่ค่อยแตกต่างกัน การสนทนาวิสาสะก็เริ่มสนุกสนานและเป็นกันเอง

แม่หญิงผู้อารีนางหนึ่ง ได้แบ่งข้าวหลาม ที่เพิ่งจะด้งมาสดๆจากกองไฟ ให้คณะเดินทางได้รับประทานด้วย โดยมีชาวบ้านอื่นๆล้อมวงเข้ามาดูว่า พวกเราจะกินได้ไหม และแสดงความดีใจอย่างเห็นได้ชัด เมือเห็นว่า พวกเราทุกคนต่างกินได้อย่างเอร็ดอร่อย





คณะของเรายังได้ถือโอกาสนี้ สำรวจความเป็นอยู่ของชาวสบเฮือง และเยี่ยมชมที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น ที่ใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่เต็มที่ เช่น สานเป็นเสื่อใช้เป็นฝาบ้านและปูพื้นบ้าน มัดเป็นตับใช้มุงหลังคา

ส่วนบ้านที่มีฐานะหน่อยก็ใช้ไม้เนื้อแข็งทั้งหมด หลังคามุงกระเบื้องลอน





บางบ้านยังเปิดใต้ถุนโล่ง เพื่อใช้เป็นพื้นที่กิจกรรมต่างๆ หรือโรงเก็บของด้วย

มีบ้านหนึ่งเปิดใต้ถุนเป็นร้านตัดผม ซึ่งคณะของเราต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ไม่ได้ถือโอกาสนี้ใช้บริการ

18. เวียงคำ

ครึ่งชั่วโมงต่อมา คณะเดินทางจึงอำลาสบเฮือง ข้าพเจ้านึกในใจว่า คงจะไม่มีโอกาสได้พบความมีน้ำใจ และความโอบอ้อมอารีอย่างบริสุทธิใจต่อผู้แปลกหน้าดังเช่นที่นี่ ได้ง่ายนักในชุมชนอื่นๆอีก แม้จะยังอยู่บนแผ่นดินลาวก็ตาม

ยามสายวันนี้ เราได้เห็นแสงแดดที่สาดส่องอย่างเต็มที่อีกครั้ง หลังจากได้เห็นครั้งสุดท้ายเมื่อครั้งออกจากเวียงจันทน์

อากาศทั่วไปยังคงเย็นสบาย เส้นทางในช่วงนี้เริ่มอยู่ในสภาพดีตลอดแล้ว

ประมาณเก้าโมงสี่สิบห้า รถของพวกเราก็แล่นข้ามสะพานข้ามแม่น้ำอีกสายหนึ่ง แล้วเข้าสู่เมืองเวียงคำ


คณะเดินทางเลือกร้านอาหารเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมทางร้านหนึ่ง แวะลงทานกาแฟและอาหารเช้า ก่อนจะออกมาเดินเล่นชมเมืองและเก็บภาพ



ที่นี่ผู้คนค่อนข้างคึกคัก มีตลาดเช้ากลางแจ้ง มีเรือนพักแบบพื้นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่สนใจความสะดวกมากนักอยู่สองแห่ง

มีร้านค้าแบบเรือนแถวสร้างด้วยไม้ บางร้านมีระเบียงทางเดินด้านหน้า ตั้งอยู่เรียงรายยาวไปตลอดสองข้างถนน



ข้าพเจ้าออกไปยืนกลางแดด แล้วมองออกไปไกลจนสุดถนน รู้สึกได้ทันทีว่า บรรยากาศมีความคล้ายคลึงกับเมืองในภาพยนตร์คาวบอยตะวันตกอยู่ไม่น้อย

ที่สุดเขตเมือง มีวัดแห่งหนึ่ง ใกล้ๆกันมีถนนขึ้นเนินสูง มองขึ้นไปเห็นเรือนไม้สามสี่หลัง ตั้งอยู่ในร่มเงาของต้นสัก

ด้านล่างมีป้ายคอนกรีตคลุมด้วยหลังคามุงกระเบื้อง บนป้ายเขียนว่า “ที่ว่ากานเจ้าเมืองเวียงคำ แขวง หลวงพะบาง”

ถัดไปจากป้ายนี้ มีป้ายรูปเสือโคร่ง แบบเดียวกับที่เพิ่งได้เห็นที่เมืองเวียงทองเมื่อคืนนี้ ตั้งตระหง่านอยู่เคียงคู่กัน


ทำให้ข้าพเจ้าอดสงสัยมิได้ว่า เจ้าเมืองที่นี่ จะมีโอกาสถูกเสือจับไปกินบ้างหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เมืองเวียงคำอาจจะ “เฮี่ยม” ยิ่งกว่าเมืองเวียงทองก็ได้

19. หนองเขียว - เมืองงอย

จากเมืองเวียงคำไปอีกราว 50 กิโลเมตร ก่อนเวลาเที่ยงวันเพียงเล็กน้อย คณะเดินทางได้มาถึงสะพานข้ามแม่น้ำอู และเมืองหนองเขียว




สะพานข้ามแม่น้ำอูที่หนองเขียวนี้ เป็นสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ ฝีมือของวิศวกรชาวจีน

ทิวทัศน์เมื่อมองจากสะพานออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งเหนือ จะเห็นแม่น้ำกว้างใหญ่ ทอดยาวไปไกลอยู่เบื้องล่าง มีเกาะแก่งอยู่ตรงกลาง

สองข้างเป็นภูเขาใหญ่สูงชัน เรียงสลับซับซ้อนกันเป็นหลายชั้น  


ช่างเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ จนแทบจะลืมหายใจเป็นอย่างยิ่ง

นักเดินทางจำนวนไม่น้อย เข้าใจผิดว่าหนองเขียวคือเมืองงอย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว เมืองงอยตั้งอยู่ห่างจากที่นี่ ต้องนั่งเรือทวนน้ำอูขึ้นไปอีก 24 กิโลเมตร

และบางครั้งก็มีผู้เรียกเมืองงอยว่า เมืองงอยเก่า และเรียกหนองเขียวว่า เมืองงอยใหม่

ที่ท่าเรือเมืองหนองเขียว คณะเดินทางตัดสินใจเช่าเหมาเรือเพื่อเดินทางไปเมืองงอย และกลับมาหนองเขียวให้ทันในบ่ายวันนี้ หลังจากตรวจสอบตารางเวลาของเรือโดยสารปกติแล้วพบว่า มีความเสี่ยงที่จะกลับมาไม่ทัน หรืออาจต้องค้างคืนที่เมืองงอยโดยไม่ตั้งใจ


และเพื่อเป็นการประหยัดเวลาเดินทาง จึงได้แวะซื้อข้าวเหนียว หมูสามชั้นต้ม โรยด้วยเกลือพริกไทย ส้มเขียวหวาน และกล้วยน้ำว้า เป็นอาหารมื้อกลางวัน สำหรับนั่งทานไปในเรือไปด้วย




ระหว่างทาง เรือต้องแล่นผ่านเกาะแก่งไม่น้อยกว่าสามสี่แห่ง บางแก่งค่อนข้างคดเคี้ยว น้ำไหลเชี่ยวน่าตื่นเต้นพอสมควร

แต่เมื่อพ้นไปแล้ว น้ำแทบจะนิ่ง มองเห็นผิวน้ำเป็นแผ่นสีเขียวราวกับแผ่นหยก

นานๆจึงจะมีเรือวิ่งสวนทางมาสักลำ








ทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำ นอกจากจะคงความงามเกินกว่าคำบรรยายแล้ว ยังให้ความรู้สึกสงบและผ่อนคลายเป็นยิ่งนัก

เมื่อใดที่ผ่านหมู่บ้าน จะได้เห็นเด็กๆพายเรือสวนมา หรือกระโดดน้ำเล่นอย่างมีความสุข




หนึ่งชั่วโมงกับอีกสิบนาทีผ่านไป เรือก็เข้าเทียบที่ท่าเรือเมืองงอย

ณ สถานที่แห่งนี้ มีรูปถ่ายและบันทึกของฝรั่งอดีตเจ้าอาณานิคมเมื่อประมาณปี พ.ศ.2430 ระบุว่า เป็นที่ตั้งค่ายบัญชาการของกองทัพสยาม และบ้านพักของพระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ในยุทธการขับไล่พวกฮ่อครั้งสุดท้าย หลังจากที่พวกฮ่อสามารถรุกขึ้นไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง





คุณจ่าน้อมได้เล่าเกร็ดให้ฟังด้วยว่า หากแล่นเรือทวนน้ำขึ้นไปอีก จะมีหน้าผาใหญ่ ที่กองทัพสยามใช้เป็นด่านเฝ้าระวัง และตั้งปืนใหญ่ไว้บนที่สูง

แต่แล้วถูกพวกฮ่อแอบเล็ดรอดปีนขึ้นไปจนถึงที่ตั้ง และถีบปืนใหญ่กระบอกนั้นทิ้งลงแม่น้ำเสีย

และเมื่อเวลาล่วงมาอีกเกือบร้อยปี ถึงยุคสงครามปฏิวัติ เมืองงอยก็เป็นหนึ่งในสมรภูมิเดือดด้วย

โดยเป็นที่มั่นใหญ่แห่งหนึ่งของกองกำลังปฏิวัติ ซึ่งอาศัยถ้ำใหญ่แห่งหนึ่งที่นี่เป็นกองบัญชาการ

คณะเดินทางขึ้นบันไดท่าเรือ และเดินต่อไปถึงสี่แยก ที่น่าจะมีอยู่เพียงแห่งเดียวในเมือง

จากสี่แยกนี้ หากเลี้ยวซ้ายมือไปจะพบ “ห้องกานปกคองบ้านเมืองงอย” เป็นเรือนไม้ค่อนข้างเก่า มีชั้นเดียวไม่ยกพื้น ตั้งเด่นอยู่



หัวมุมฝั่งตรงข้าม เป็นเรือนพักหลังใหญ่สองชั้น นามว่า “เรือนพักเพ็ดตาวัน” เป็นบ้านสองชั้นครึ่งไม้ครึ่งตึก มีระเบียงใหญ่ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง มีกระถางดอกโป๊ยเซียนประดับหน้าบ้าน

และยังมีเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากอเมริกา ที่เป็นผลิตผลจากสงคราม คล้ายๆกับที่เคยเห็นมาแล้วที่เชียงขวาง วางให้เห็นหลายชิ้น




หากเลี้ยวขวา ก็จะเข้าสู่ถนนสายหลักและย่านการค้า ที่มีทั้งเรือนพัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก กระจายตัวอยู่ทั่วไปทั้งสองข้าง

สังเกตได้ว่าหลายร้านมีป้ายภาษาอังกฤษ และเมนูอาหารแบบฝรั่ง





จากการพูดคุยกับแม่หญิงเจ้าของร้าน ที่เราแวะอุดหนุนรับประทานเฝอ ผัดวุ้นเส้น และขนมพายชิ้นเล็กๆ จึงทราบว่า เมืองงอยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมาก

ส่วนใหญ่ชอบที่จะมาลองใช้ชีวิตแบบไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก และมาอยู่กันทีละหลายๆวัน




บ่ายสามโมงเศษ คณะเดินทางกลับมาที่บันไดท่าน้ำ นั่งเหยียดขาดูทิวทัศน์ริมน้ำอย่างสบายอารมณ์ และสังเกตดูกิจกรรมริมแม่น้ำในช่วงบ่ายๆ แดดอ่อนๆเช่นนี้ไปด้วย




ข้าพเจ้าสังเกตดูฝูงเป็ด ซึ่งมีอยู่ทั่วไป และพบว่า เป็นเป็ดเมืองหนาวตัวใหญ่ทั้งนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็ดหัวเขียว ที่มักไม่ใคร่เห็นในเมืองไทย


เจ้าของเป็ดผู้ค่อนข้างมีอายุ แสดงอาการแปลกใจ เมื่อเห็นพวกเราติดตามถ่ายรูปเป็ดกันอย่างขะมักเขม้น แทบจะตามเป็ดลงไปในน้ำ


ข้าพเจ้าจึงได้ส่งภาษา แบบด้นเองสดๆออกไปว่า “เป๊ดลาวงามแต๊ๆเด้อ เป๊ดไทยสิงามสู้บ่ได้”

ทำให้อุ๊ยคำเจ้าของเป็ดยิ้มออกมาอย่างขบขัน

20. หนองเขียว - อุดมไชย - เมืองขวา

คณะเดินทางนั่งเรือกลับมาถึงหนองเขียวเมื่อเวลาสี่โมงครึ่ง พวกเราค่อนข้างจะห่วงความปลอดภัยของรถและสัมภาระ ที่จอดทิ้งไว้ในที่ที่ไม่คุ้นเคยเกือบครึ่งวัน โดยไม่ได้ฝากใครดูแลให้

แต่ก็พบว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี ไม่มีอะไรสูญหายหรือเสียหาย

มีเพียงด้านข้างกระบะของรถคุณจ่าน้อม พบรอยนิ้วมือเขียนตัวหนังสือขนาดเขื่อง ทิ้งไว้บนคราบฝุ่นที่จับหนาเตอะอยู่บนผิวรถ

อ่านได้ใจความว่า “สันรักเธอ”


การเดินทางช่วงที่เหลือของวันนี้ ท่านท้าวไกรสรมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ที่จะไปให้ถึงชายแดนเวียดนาม หรือใกล้ที่สุด เพื่อจะข้ามไปให้ถึงเมืองเดียนเบียนฟูในวันรุ่งขึ้น

แผนที่ทุกฉบับที่มีอยู่ในมือ และหนังสือนำเที่ยวทั้งสองเล่ม ให้ข้อมูลตรงกันว่า มีทางหลวงที่จะข้ามพรมแดนไปได้

เพียงแต่ไม่ได้บอกว่า สภาพเส้นทางเป็นอย่างไร

ซึ่งเรื่องนี้ คณะเดินทางไม่ใคร่กังวลนัก เพราะเท่าที่ผ่านมา เชื่อว่าได้เห็นมาครบทุกสภาพถนนแล้ว และรถทั้งสองคันก็เป็น 4x4 ที่พอจะลุยไปในหน้าแล้งเช่นนี้ได้ไม่ยากนัก

อีกเรื่องหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคมากกว่า คือ ที่เมืองขวา อันเป็นเมืองใหญ่ที่สุดบนเส้นทางก่อนถึงชายแดน และตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายใหญ่ ยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำสำหรับให้รถยนต์ผ่านไปมาได้

แม่น้ำที่ว่านั้น คือแม่น้ำอู สายเดียวกับที่เราเพิ่งข้ามและล่องมาแล้วที่หนองเขียวนี่เอง ซึ่งแปลว่าอย่างน้อยน่าจะต้องมีแพขนานยนต์ให้บริการอยู่บ้าง

และเรื่องสุดท้ายคือ ไม่ทราบว่าด่านที่ชายแดนทั้งสองฝั่งนั้น เป็นด่านเปิดรับนักเดินทางทุกชาติให้เข้าออกได้แล้วหรือยัง

ไม่มีอะไรที่จะให้คำตอบได้ดีกว่าการไปเห็นเองด้วยตา คณะเดินทางจึงตั้งเข็มไปยังเมืองขวา ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราว 200 กิโลเมตร และออกจากหนองเขียวเมื่อเวลาห้าโมงเย็น

ท.1 จากหนองเขียว วิ่งผ่านเมืองน้ำบาก กลับไปบรรจบ ท.13 ที่สามแยกเมืองปากมอง จากนั้นตัดกับ ท.2 ก่อนจะถึงเมืองอุดมไชย

ระยะทางรวม 110 กิโลเมตร ราดยางตลอดและเป็นทางภูเขาล้วน


ถึงเวลานี้ การเดินทางกลางคืนบนเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย กลายเป็นความคุ้นเคยไปเสียแล้ว เราจอดรถเติมน้ำมันที่อุดมไชยเมื่อเวลาสองทุ่มครึ่ง เหลืออีกเพียง 90 กิโลเมตรเท่านั้นก็จะถึงเมืองขวา อาหารเย็นวันนี้เสิรฟจากเสบียงบนรถ

จากอุดมไชยไปเมืองขวา ต้องแยกจาก ท.13 เข้าสู่ ท.4 ซึ่งในแผนที่บางฉบับก็ระบุว่าเป็น ท.2 ในขณะที่บนหลักกิโล บางช่วงก็เขียนว่า ท.4 แต่บางช่วงก็เขียนว่า ท.2E

คณะเดินทางมาทราบในภายหลังว่า ทางการลาวกำลังทบทวนระบบหมายเลขทางหลวงใหม่

เช่นเดียวกับตัวหนังสือลาว ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวิธีเขียนไปแล้วครั้งหนึ่งหลังการปฏิวัติ แต่ยังคงเห็นการเขียนแบบเดิมได้ในหนังสือ และตามป้ายประกาศรุ่นเก่าๆ

เส้นทางในช่วงนี้ ผิวทางราดยางโดยตลอด แสงไฟหน้ารถสาดส่องเห็นหมู่บ้านตั้งเป็นแถว เรียงอยู่ริมสองข้างถนนเป็นระยะๆ ไม่ค่อยเห็นผู้คนหรือแสงไฟในบ้าน

แต่ระหว่างหมู่บ้าน กลับมีผู้คนเดินถือไฟฉายให้เห็น เหมือนกับเพิ่งจะกลับบ้านกัน บ้างก็เดินเดี่ยว บ้างก็มาเป็นกลุ่ม

ประมาณ 60 กิโลเมตรผ่านไป จะพบสามแยก ซึ่งหากเลี้ยวซ้ายจะไปเมืองพงสาลี

เมื่อเลี้ยวขวาและวิ่งต่อไปจนเกือบจะถึงเมืองขวาแล้ว จะพบด่านเก็บค่าผ่านทาง ประกอบด้วยตู้ยามเล็กๆและไม้กั้นถนน

ตั้งแต่ออกจากเวียงจันทน์เป็นต้นมา คณะเดินทางได้จอดรถลงเสียค่าธรรมเนียมผ่านทางมาแล้วหลายด่าน ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน จนเกิดความเคยชิน

เพียงแต่ด่านนี้ปิดไฟเงียบ และไม้กั้นถนนก็ปิดขวางทางเราอยู่

รอบๆบริเวณก็มืดมิดไปหมดมองไม่เห็นอะไร ดูนาฬิกาเห็นเวลาสี่ทุ่มครึ่งแล้ว

หลังจากลองกดแตรดูสองสามครั้ง ไม่พบว่ามีใครออกมาดู พวกเราจึงตัดสินใจลงไปยกไม้กั้นขึ้นเอง นำรถทั้งสองคันแล่นผ่านด่านไป ก่อนจะจอดรถแอบลงข้างทาง แล้วเดินกลับไปปลุกเจ้าหน้าที่ที่ป้อม เพื่อจะจ่ายเงิน

เจ้าหน้าที่วัยกลางคน ผู้คงไม่เคยต้องอยู่ทำหน้าที่จนดึกดื่นขนาดนี้ งัวเงียขึ้นมารับเงินแต่โดยดี แล้วกลับไปนอนต่อ

โดยไม่สนใจว่าเราเป็นใคร และไม่ตรวจนับเงินว่าครบหรือไม่ด้วย เรื่องออกใบเสร็จนั้นลืมไปได้เลย

ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่จนบัดนี้ว่า ป่านนี้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะนึกออกหรือยังว่า เงิน 4,000 กีบในมือที่ตื่นขึ้นมาพบตอนในเช้าวันรุ่งขึ้นนั้น มาจากไหน

(คลิกที่นี่ เพื่อติดตามตอนต่อไปกับสาระเข้มข้นและเรื่องราวลึกลับตื่นเต้น)

(คลิกที่นี่ เพื่อติดตามความเดิมในตอนที่แล้ว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น